หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

เล่าเรื่องเมืองมหาสารคาม จากภาพของ Charles Keyes

ศาสตราจารย์ Charles Keyes เป็นนักมนุษยวิทยา ประจำภาควิชามานุษยวิทยา (Department of Anthropology) ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสนใจในด้านมนุษยวิทยาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทยและเวียดนาม โดยได้เข้ามาเก็บข้อมูลที่มหาสารคาม โดยเฉพาะบ้านหนองตื่นและเมืองมหาสารคาม ในช่วงปี พ.ศ. 2507 (จากหลักฐานทางภาพถ่าย) พร้อมทั้งได้ถ่ายภาพบรรยากาศชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคามในช่วงนั้นไว้ ซึ่งสะท้องให้เห็นวิถีชีวิตของคนอีสานและคนมหาสารคามได้เป็นอย่างดี งานสำรวจภาคสนามของเขาได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ “สังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” เป็นภาษาอังกฤษ
เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายของ Charles Keyes อาจสรุปว่าสภาพทั้วไปของเมืองมหาสารคามและชุมชนรอบเมืองมหาสารคามเป็นดังนี้
1.                           ทางด้านวัฒนธรรม ชาวมหาสารคามมีความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน คือยังมีการเชื่อ นับถือและประกอบพิธีกรรม เกี่ยวกับพุทธ พราหมณ์และผี ไปพร้อมๆกัน ภาพที่เกี่ยวข้องเช่น ภาพคายขันห้า ซึ่งใช้ถ้วยใส่น้ำ และมีก้านมะพร้าวคาดบนบากถ้วย และถ้วยนั้นตั้งอยู่บนถาดสังกะสี รอบๆถาดจะมีฝ้ายที่ผ่านกระบวนการทำเป็นเส้น และที่ยังเป็นดอกอยู่ โดยจะกองเป็นสี่ทิศ ซึ่งใช้ในการตั้งมุงคุน(มงคล)เรือน โยจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันอาหารที่บ้านและสวดเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งภาพนี้สามารถสะท้อนถึงการนำเอาความเชื่อทางด้านพราหมณ์และผี ผนวกเข้ากับพุทธได้เป็นอย่างดี , ความเชื่อในการอยู่กรรมของผู้หญิงหลังคลอดลูก โดยจะมีการนำฝ้ายมาผูก แขนและขาทั้งสองข้าง พร้อมทั้งคาดบ่า โดยมีความเชื่อว่าป้องกันภูตผีที่ได้กลิ่นคาวเลือดจะมาทำร้ายหรือเอาชีวิต , ความเชื่อในด้านโชคชะตา โดยมีการดูดวงโดยใช้ผืนผ้า เรียกว่า “หมอมอผืนผ้า” , การสะเดาะเคราะห์ โดยมีการทำกระทงกาบกล้วยทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ขาวเหนียวดำ ข้าวเหนียวแดง ปลาร้า และขนมจีน แล้วจะมีการทำพิธีก่อนที่จะนำไปไว้ที่ใดที่หนึ่งตามที่พ่อหมอหรือคนทำพิธีบอก , ทางด้านพระพุทธศาสนา มีภาพที่แสดงถึงการทำพิธีกรรม คือ บุญผเวส ซื่งเชื่อว่าหากใครได้ฟังเทศในบุญนี้(เทศมหาชาติ) จะได้อานิสงส์มาก , มีการเชิญพระอุปคุตมารักษาความเรียบร้อยของงาน ไม่ให้มีมารมาผจญและงานนั้นๆเสร็จได้อย่างเรียบร้อย , ความเชื่อในความเคารพบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไป ชาวมหาสารคามจะมีการ “ปั้นธาตุ” ก่อธาตุเพื่อเก็บกระดูกของบรรพบุรุษไว้กราบไหว้ , การนำศพไปป่าช้า ซึ่งสมัยนั้นไม่มีโลงศพจะต้องใช้สาด(เสื่อ)พันไป การล้างหน้าศพก็ต้องนำน้ำใส้กระบอกไม้ไผ่ไป
2.                           ด้านเกษตรกรรม ภาพที่ Charles Keyes ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ช่วงนั้น มีการปลูกข้าว (นาดำ) สังเกตจากตอฟางข้าวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบ หลังจากการเก็บเกี่ยวจะมีการปลูกพืชสวนครัวต่างๆ เช่นแตง ต้นหอมในพื้นที่นา แต่ไม่ได้ปลูกมากเพราะปลูกไว้เฉพาะกินในครัวเรือนเท่านั้น และยังมีการหาอาหารทางธรรมชาติ กบ เขียด ในที่นาด้วย รวมทั้งมีการปลูกปอขายด้วย
3.                           อาชีพเสริม เห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงนี้ชาวบ้านมีการทำอาชีพเสริม เช่น การเล่นมายากล การปั้นหม้อขาย การแสดงละครลิง การนำสินค้าใหม่ๆ เช่นผงซักผ้า ยาต่างๆ รวมทั้งเริ่มมีการใช้จักรเย็บผ้าใช้กันแล้ว การแสดงหมอลำหมู่ ในเมืองมหาสารคามมีการปั่นสามล้อรับจ้าง และการตีมีด
4.                           พาหนพที่ใช้ ในช่วงนี้ยังมีการใช้เกวียนกันอยู่ ในเมืองมหาสารคามนั้นเริ่มมีรถโดยสาร “รถสองแถว” และรถจักรยานยนต์บ้าง แต่ไม่มากนัก ที่มากที่สุดก็คือจักรยาน
5.                           การบริการของรัฐ เมื่อมองจากภาพในช่วงนี้การบริการของรัฐยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองเป็นหลัก โยสังเกตจากถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ถนนและไฟฟ้าเป็นต้น ซึ่งถนนในเมืองมีคอนกรีตอย่างดี แต่ในหมู่บ้านเป็นแค่ทางเท้าเท่านั้น
6.                           การรับวัฒนธรรมจากภายนอก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการแต่งกาย ในช่วงนี้การแต่งกายทั้งชายและหญิงเริ่มมีการสวมเสื้อเชิตและกางเกงมาก แต่ก็ยังมีการทอผ้า การใช้ผ้าพื้นเมืองอยู่ มีโรงสีข้าวแทนการตำข้าว
อาจสรุปได้ว่าในช่วงนี้ชาวอีสานเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงคือเริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ(ปอ) มีอาชีพเสริม สินค้าจากภายนอกเริ่มหลั่งไหลเข้าชุมชน จากการที่มีรถไฟมาถึงบ้านไผ่ในปี พ.ศ. 2475 ในด้านวัฒนธรรมของคนอีสานยังประกอบพิธีกรรมเหมือนเดิม แต่ชาวบ้านก็ยังมีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนในเมืองเริ่มพัฒนาการเป็นเมืองมากขึ้น เช่นมาการสร้างตึกด้วยซีเมนต์ แทนตึกติน แต่ตึกดินก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในช่วงนี้
ดูภาพประกอบได้ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น