หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

กำเนิดงานบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดจังหวัดมหาสารคาม


ก่อนอื่นขอเริ่มต้นกันที่งานบุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวอีสานปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากชาวอีสานมีความเชื่อว่า เมื่อถึงเดือนสาม ขึ้นสามค่ำ ฟ้าจะไขประตูน้ำให้ตกลงสู่โลกมนุษย์ จึงให้คนทั้งปวงคอยสังเกตและฟังเสียงฟ้าร้องในวันนี้ ถ้ามีเสียงฟ้าร้องมาจากทิศใดก็จะทำนายลักษณะของฝนประจำปีของทิศนั้น คือ   
1.ทิศบูรพา(ทิศตะวันออก) มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูน้ำ ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดี ข้าวกล้าในนาจะอุดมสมบูรณ์ คนทั้งปวงจะได้ทำบุญให้ทานอย่างเต็มที่
2.ทิศอาคเนย์(ทิศตะวันออกเฉียงใต้)  มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูลม ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะน้อย นาแล้ง คนจะอดอยาก และเกิดโรคระบาด
3.ทิศทักษิณ(ทิศใต้)มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูทอง ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะมาก น้ำจะท่วมข้าวกล้าในนาเสียหายถึงสองในห้าส่วน นาลุ่มเสีย นาดอนดี มีปูปลาอุดมสมบูรณ์
4.ทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้) มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูตะกั่วหรือประตูชิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะดี น้ำงามพอเหมาะ ผลหมากรากไม้อุดม ปูปลามีมาก ข้าวกล้าบริบูรณ์ ผู้คนมีความสุข
5.ทิศปัจจิมหรือทิศประจิม(ทิศตะวันตก)  มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเหล็ก ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาแห้งตาย เสียหายหนัก
6.ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูหินถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะตกปานกลาง ข้าวกล้าได้ผลกึ่งหนึ่ง เสียหายกึ่งหนึ่ง ปูปลามีน้อย คนจักป่วยไข้
7.ทิศอุดร (ทิศเหนือ) มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเงิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดี ข้าวกล้าในนางอกงามดี คนมีสุขทั่วหน้า
8.ทิศอีสาน(ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) มีวัวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูดิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดีตลอดปี ข้าวกล้าในนาจะงอกงามสมบูรณ์ดี คนจะมีความสุขเกษมตลอดปีอย่างถ้วนหน้า




ตามตำราโบราณที่กล่าวไว้ว่า ในเดือนสามขึ้นสามค่ำนี้เช่นกัน ชาวอีสานเชื่อว่าเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวัน “กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี้”มายความว่าในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 มีความอิ่มเต็มโดยอัตโนมัติ ซึ่งแม้แต่กบไม่ได้กินอะไรเลย ก็จะอิ่มทิพย์อิ่มเองโดยไม่ต้องกิน  ถ้าจะจับกบมาดูในวันนั้น(วันขึ้นสามค่ำเดือนสาม) จะเห็นว่าที่ปากของกบจะมีเยื่อบาง ๆ สีขาวปิดปากอยู่ แสดงว่ากบนั้นไม่ต้องกินอะไรเลยก็อิ่มเอง  และหากใครเอามะขามป้อมมาเคี้ยวกินในวันนั้น  มะขามป้อมซึ่งเดิมมีรสเปรี้ยว ก็จะมีรสหวานได้อย่างน่าอัศจรรย์
จึงถือว่าวันนี้เป็นฤกษ์สำคัญ ชาวนาในภาคอีสานและชาวนาในมหาสารคามต่างก็นำปุ๋ยคอกไปใสในที่นาของตน เพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่เดิม ในการนำปุ๋ยคอกไปใส่ในที่นาในเดือนนี้ ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวอีสาน เพราะปุ๋ยคอกนั้นต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยนานถ้านำไปใส่ในตอนปลูกข้าวแล้ว จะทำให้ข้าวไม่ได้ดูดซึมปุ๋ยที่นำไปใส่ได้อย่างเต็มที่
ต่อมาได้จัดเป็ประเพณีทางราชการประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายผัน เสนีย์พัลย์ (มหาผัน เสนีย์พัลย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย กรุงเทพมหานคร) ชาวบ้านแบก ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้ให้คำปรึกษาสำคัญแก่เกษตรอำเภอเชียงยืนเกี่ยวกับการเริ่มประเพณีบุญเบิกฟ้า สำหรับเป็นประเพณีของกลุ่มเกษตรกร โยจัดขึ้นที่บ้านแบก ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2528 ทั้งนี้โดยความดำริของนายไสว พราหมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารครมในสมัยนั้น ที่จะหาแนวทางนำประเพณีโบราณของท้องถิ่นมาปรับเป็นแนวทางในการพัฒนาบ้านเมือง
จากตำนานไขฟ้าประตูน้ำดังกล่าวแล้ว ชาวมหาสารคามยังได้นำมาผนวกเข้ากัยแนวคิดและความเชื่อเรื่อง นางโภสพ ประยุกต์ให้เป็นงานประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม โดยจัดในครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ในสมัยที่ ดร.จินต์ วิภาตะกลัศ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยผนวกเข้ากับงานกาชาด ตั้งชื่อว่า “งานบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดจังหวัดมหาสารคาม
ส่วนความเป็นมาของการจัดงานกาชาดเกิดขึ้นจาก เมื่อสภากาชาดสยาม ได้รับการรับรอง เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตสภากาชาดแล้ว ทางสันนิบาตสภากาชาดมีความเห็นว่าสภากาชาดแต่ละประเทศควรจะได้จัดงานเผยแพร่กิจการกาชาดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เพื่อให้เกิดความสามัคคี มีเมตตากรุณาต่อกันต่อไป คณะกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาชาดสยามและคณะกรรมการที่ปรึกษา รวม 8 ท่าน มี จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันให้จัดงานประจำปีของสภากาชาดสยามขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 24658 เมษายน 2466 (ขณะนั้นเปลี่ยนพุทธศักราชในเดือนเมษายน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่กิจการของสภากาชาด
และชักชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมในกิจการด้วยการเข้าเป็นสมาชิกของสภากาชาด เรียกว่า ประชาสมาชิกนอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นงานรื่นเริงประจำปีต้อนรับบรรดาสมาชิกของสภากาชาด โดยเก็บค่าบำรุงคนละ 1 บาทต่อปี การจัดหาประชาสมาชิกนี้จัดให้มีขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น สถานที่จัดงานคือ สนามหลวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานของเต้นท์อำนวยการสภากาชาดสยามในวันแรกของงาน
        งานกาชาดซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ เรียกชื่องานว่า การรับประชาสมาชิก พ.ศ. 2466ซึ่งประชาชนได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะสภากาชาดสยามได้เชิญชวน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ สโมสร สมาคม และบริษัทห้างร้านต่างๆ แต่งรถเข้าร่วมแห่ เป็นกระบวนแห่รถไปตามถนนสายต่างๆ แล้วไปรวมกันอยู่ที่สนามหลวง จึงมีประชาชนออกมาดูกระบวนแห่ ทั้งตามรายทางและที่สนามหลวง เป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีทั้งอนุสมาชิกชายและหญิง นักเรียน ลูกเสือ ได้เข้าไปพบปะชักชวนประชาชนเข้าเป็นสมาชิก นอกจากนั้น ยังมีบางส่วนเดินไปตามวังตามบ้านเพื่อการชักชวนอีกด้วย
        การประชาสัมพันธ์ด้วยการออกเชิญชวนให้เข้าเป็นสมาชิกในครั้งนั้นได้ผลดี ช่วยให้ประชาชนรู้จักสภากาชาดสยามแพร่หลายขึ้น และมีผู้สมัครเข้าเป็นประชาสมาชิกในกรุงเทพฯ รวม 13,436 ราย
        งานกาชาดได้จัดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2467 เรียกชื่องานว่า การแห่กาชาดและการรับประชาสมาชิกการจัดงานคงดำเนินแบบเดียวกับปีแรก ในปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรขบวนแห่ และพระราชทานรางวัลแก่รถยนต์ที่แห่เข้าร่วมขบวน มีประชาชนมาเที่ยวชมขบวนแห่และสมัครเป็นสมาชิกกันมากมาย
          หลังจากที่มีเหล่ากาชาดประจำจังหวัดจึงได้มีงานกาชาดประจำจังหวัดขึ้น โดยจังหวัดมหาสารคามเริ่มจัดในครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2532
อ้างอิง
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ . วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์
     และภูมิปัญญา จังหวัดมหาสารคาม . กรุงเทพฯ : คุรุสภา , 2542 “
สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎมหาสารคาม . บุญเบิกฟ้าและงานกาชาดจังหวัดมหาสารคาม
      พ.ศ. 2532 . มหาสารคาม:อภิชาติการพิมพ์ , 2533 .
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/251898   สืบค้นวันที่ 23 มกราคม 2555
http://board.postjung.com/500128.html  สืบค้นวันที่ 23 มกราคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น