หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วันนี้ในอดีต 15 พฤศจิกายน : ในหลวงเสด็จเยือนจังหวัดมหาสารคามครั้งแรก

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปกครองสยามรัฐสีมาอาณาจักรตราบจนทุกวันนี้ ทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ยังความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรทั่วหน้า ทรงเป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวไทย พระมหากรุณาธิคุณเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งมวลจักน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมตลอดไป
                ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพสกนิกรในภูมิภาคแรกที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ในมหามงคลสมัยนั้นเป็นปิติกาลของชาวอีสาน มีเรื่องราวที่ประทับตรึงแน่นอยู่ในความทรงจำ พระราชจริยานุวัตรอันงดงามของทั้งสองพระองค์ที่พระราชทานพระเมตตาแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกชาติชั้นวรรณะ ไม่เพียงแต่จะอยู่ในความทรงจำเท่านั้น ยังเป็นเรื่องเล่าขานสืบสานต่อกันมาจนทุกวันนี้
                พระราชกรณียกิจในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในครั้งนั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของพสกนิกรของพระองค์ ทำให้ทรงพระวินิจฉัยและพระราชดำริในการพัฒนาได้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างดี ยังประโยชน์สุขแก่พสกนิกรอย่างแท้จริง
                เรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ซึ่งเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ยังความปลิ้มปิติแก่พสกนิกรชาวไทยในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรดังนี้มาก่อนเลย และในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเช่นนี้ ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของพระสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง ดังกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จในครั้งนั้นตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมประชาชนจังหวัดนี้ก็เพื่อพบปะราษฏรโดยใกล้ชิด และเพื่อทราบทุกข์สุข และทราบว่าราษฎรจังหวัดนี้ประสบอุปสรรคต่างๆ ในการทำมาหากินหลายปี ก็รู้สึกห่วงใย” ทั้งได้มีโอกาสพระราชทานแนวพระราชทานในการประกอบอาชีพแก่ราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะทรงแนะนำให้ราษฎรเลี้ยงเป็ด ไก่ ปลูกพืชผักและการทำสวนครัวไปควบคู่กับการทำนา อันเป็นแนวพระราชดำริที่รู้จักกันในทั่วไปว่า “ การเกษตรแบบผสมผสาน”
                ซึ่งยังคงใช้ได้เป็นอย่างดีแม้ในปัจจุบัน การที่ได้ทอดพระเนตรถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรด้วยพระองค์เองเช่นนี้ ทำให้ทรงมีโครงการตามแนวพระราชดำริเกิดขึ้นตามมามากมาย ล้านเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ท้องถิ่นต่างๆ อย่างแท้จริงและเหมาะสม
                การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนั้น ยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวอีสานอย่างสุดพรรณนา พสกนิกรที่มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ ตลอดจนข้าราชการในท้องถิ่นที่ได้มีโอกาสถวายงานในครั้งนั้นยังความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และประทับใจในพระราชจริยานุวัตรที่งดงาม
                ในจังหวัดมหาสารคามเองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอุดลยเดชก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมตั้งแต่เวลา 16.00 น ของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 โดยเสด็จมาจากอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ผู้ที่มาคอยรับเสด็จ มาล่วงหน้าแล้ว 1-2 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมชินีนาถ ได้ประทับแรม ณ จวนผู้ว่าจังหวัดมหาสารคาม ที่สร้างขึ้นใหม่  เป็นเวลา 1 คืนด้วย เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2498 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จออกหน้ามุขศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม หลวงอนุมัตราชกิจกราบบังคมทูลถวายรายงานและนำราษฏรเฝ้ารับเสด็จ  ใจความว่า “ จังหวัดนี้มีพื้นที่แห้งแล้ง ฝนไม่พอทำนามา 3 ปีแล้ว ราษฏรอัตคัดขาดแคลน แต่ก็ปลาบปลื้มปิติยินดีที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงและก็เป็นนิมิตมหายอันดีที่ฝนโปรปรายให้ความร่มเย็น นับตั้งแต่วันทีทรงเสด็จจากกรุงเทพมหานคร และพาความร่มเย็นมาสู่ภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดนี้ ให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดปี และได้ถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญเจริญพระชนม์ยิ่งยืนนาน”

                พระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสต่อหลวงอนุมัติราชกิจและชาวจังหวัดมหาสารคามว่า “ขอบใจในการที่มีราษฏรมาเฝ้ามากมาย และแนะนำให้ราษฏรมีมานะพากเพียรพยายามประกอบการอาชีพ เพื่อความเจริญของแต่ละครอบครัวอันจะเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติและทรงอวยพรให้ข้าราชการและราษฎรทั้งหลายอยู่เย็นเป้นสุขโดยทั่วกัน”
                หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ลงเยี่ยมราษฏรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งมีจำนวนมากจนต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปจังหวัดร้อยเอ็ดต่อไป1

                                                                       
1 รอยเสด็จ . สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์ , กุลธิดา ท้วมสุข . กรุงเทพ : หอรันตชัยการพิมพ์ , 2540 .

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความเชื่อการลอยกระทงของคนมหาสารคาม

เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่1 1โดยผู้ที่เสนอว่าประเพณีลอยกระทงน่าจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ อาจารย์สุจิต วงษ์เทศ โดยอาจารย์สุจิต เสนอว่า นางนพมาศ ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นชื่อสมมุติ “ตัวเอก” ของ “เรื่องแต่ง” ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ใช้ฉากสมมุติเป็นกรุงสุโขทัย
ลอยกระทงจึงไม่เคยมีในยุคสุโขทัย ดังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน เมื่อ พ.ศ. 2479 มีความตอนหนึ่งว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศ ซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ แต่ราชการไทยใช้ชื่อนางนพมาศโฆษณาความเป็นไทยลอยกระทงหลอกๆ เพื่อ “ขายการท่องเที่ยว
หนังสือนางนพมาศ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เป็น “ตำรา” หรือ คู่มือปฏิบัติราชการในหน้าที่นางสนมนางกำนัลนางใน ซึ่งผู้ที่จะรับราชการหน้าที่เหล่านี้ได้ ก็มีแต่ลูกสาวอำมาตย์ขุนนางข้าราชการและผู้มีทรัพย์ ดังกลอนตำนานพระราชนิพนธ์ไกรทอง ของ ร.2 ตอนหนึ่งบอกไว้ว่าพวกขุนนางถวาย “ลูกสาว” ถ้าไม่มีลูกสาวมีแต่ลูกชายก็ถวาย หลานสาวพวกเป็นหมันไม่มีลูกก็ถวาย “น้องเมีย ดังกลอนนี้
“เหล่าขุนนางต่างถวายบุตรี     พวกที่มีบุตรชายถวายหลาน
ปะที่เป็นหมันบุตรกันดาร       คิดอ่านไกล่เกลี่ยน้องเมียมา”
ประเพณีถวายลูกสาวอย่างนี้มีมาก เพราะหมายถึงอำนาจและความมั่งคั่งจะตามมา พ่อแม่ของนางนพมาศก็หวังอย่างเดียวกับคนอื่นๆ จึงมีพ่อค้านานาชาติพากันถวายด้วย ดังกลอนนี้
“ทั้งจีนแขกลาวพวนญวนทวาย        ต่างถวายลูกเต้าเอาหน้า
เขมรมอญชาวชุมพรไชยา                               ทุกภาษามาพึ่งพระบารมี”
เมื่อมีผู้ถวาย “ลูกสาว” จำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นสาวรุ่นยังไม่ประสาหน้าที่การงาน ดังนางนพมาศอายุราว 15-17 ปีเท่านั้น และมีที่มาหลากหลาย หรือร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งมีภูมิหลังและกมลสันดานต่างๆกันดังนั้น ทางราชการจำเป็นต้องสร้าง “ตำรา” หรือ “คู่มือ” ให้บรรดาลูกสาวหลานสาวเหล่านั้นฝึกปรือตนเองเพื่อปรนนิบัติพัดวีมีจริตกิริยาอย่าง “ผู้ดี” มีลาภยศสรรเสริญ
สนมกำนัลในแต่ละยุคมีนับร้อย แต่จริงๆ แล้วอาจนับไม่ถ้วน จึงแบ่งได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับบนที่เรียกเจ้าจอมหม่อมห้าม มีฐานะเทียบเท่า “เมียน้อยหรือเมียเก็บ” จนระดับล่างที่เรียกกันทั่วไปสมัยหลังว่า “นางห้าม“, “นางบำเรอ” แต่ทุกนางล้วนทำเพื่อตัวเองและวงศ์ตระกูลของตนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับส่วนรวม
ทุกวันนี้มีประกาศผ่านสื่อว่าบางโรงเรียนและศูนย์การค้าบางแห่ง เชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองส่งลูกสาวหลานสาวเข้าประกวดนางงามนพมาศหนูน้อยนพมาศฯลฯ ถ้ายกย่องนางนพมาศอย่างนั้น ทุกสถาบันก็ควรอธิบายอย่างยกย่องนางอื่นๆ ให้เสมอภาคด้วย เช่น นางโลมนางกลางเมืองนางนวด (หมอนวด)ที่เป็นนาง (หญิง) ขายบริการอยู่ในซ่องอาบอบนวดทั่วประเทศ เพราะนางพวกนี้ทำเพื่อสังคม คือช่วยหารายได้เพิ่มจีดีพีทุกปี แล้วเพิ่มได้มากๆ ด้วย2 อาจารย์สุจิตเสนอ
สำหรับการลอยกระทงในภาคอีสานนั้นก็น่าจะเกิดขึ้นในสมัยที่รัฐไทยได้เข้ามาควบคุมหรือปกครองอย่างจริงจังในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคอีสานจะยึดขนบธรรมเนียมและประเพณีตามลาวเป็นหลัก เพราะการติดต่อกับลาวในสมัยก่อนนั้นง่ายกว่าการติดต่อกับศูนย์กลางกรุงเทพฯ เพราะการติดต่อกับกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลามาก อันตรายจากโจร ไข้ป่า โดยเฉพาะในเขตดงพญาไฟ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าดงพญาเย็น  ป่าดงพญาเย็นนั้น ได้ถูกกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานจากบทพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 
ดังนั้งผู้คนในภาคอีสานจึงมีการติดต่อกับลาวมากกว่ากรุงเทพฯ เพราะลาวแค่เพียงข้ามลำน้ำโขง จึงเกิดการรับวัฒนธรรมประเพณีของลาวมาสืบปฏิบัติ คือฮีตสิบสอง ซึ่งไม่มีประเพณีลอยกระทงอยู่เลย แต่ถึงแม้จะไม่มีประเพณีลอยกระทงก็ยังมีการไต้ประทีบในบุญออกพรรษาอยู่ ดังเช่นหนังสือประเพณีอีสาน ของ ส.ธรรมภักดี ได้กล่าวว่า “ ใต้ประทีป เนื่องในวันออกพรรษา พระสงฆ์จัดทำเรือไฟด้วยในวัด ตรงหน้าโบสถ์ใช้เสาไม้หรือตนกล้วย 4 ต้นพื้นปูด้วยกาบกล้วย มีหัวหางคลายเรือ ตกกลางคืนนำดอกไม้ธูปเทียนมาจัดบูชา ถือว่าเป็นพุทธบูชา โดยเชื่อว่าถ้าใครใต้ประทัปในวันออกพรรษาจะทำให้ได้อานิสงส์มีตาทิพย์ เช่นเดียวกับพระอนุรุทเถระ ผู้เป็นอรหันต์ที่มีตาทิพย์เนื่องจากอานิสงส์ที่เคยลอยประทีป3
ดังนั้นการที่จังหวัดมหาสารคามได้จัดชื่องานลอยกระทงว่า “ งานคืนสิบสองเพ็ญ เล่นโคมไฟ ไต้ประทีบ และงานมหกรรมอาหารท้องถิ่น”  จึงน่าจะมีการใช้คำไม่ถูกต้อง แต่การที่มีการลอยกระทงในจังหวัดมหาสารคามน่าจะมีมานาน และอีกประการหนึ่งเมืองมหาสารคามก็เป็นเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้รับอิทธิพลของส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ในการลอยกระทง ดังเห็นได้จากภาพเขียนประเพณีอีสานในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามในประเพณีเดืนสิบสองจะเป็นประเพณีลอยกระทง
การลอยกระทงของชาวมหาสารคามในปี 2554 ที่ผ่านมานั้น ต่างก็มีความเชื่อแตกต่างกันไป คือ เพื่อเสียเคราะห์สืบชะตา เพื่อบูชาพระแม่คงคง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทในแม่น้ำนัมมานที และเพื่อบูชาพระอุปคุตเถระ แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีลอยกระทงแล้วคือการที่ทุกคนยิ้มแย้ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อประกอบพิธีแล้วจิตใจผู้ที่ได้ลอยกระทงเป็นสุข
                                                               
1http://th.wikipedia.org/wiki/ลอยกระทง
2http://www.pchaoprayanews.com/2011/11/10/สุจิต วงษ์เทศ/นางนพมาศ
3บุญศรี เปรียญ . ประเพณีอีสาน . ขอนแก่น , ส.ธรรมภักดี .



วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เที่ยวพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม

เมื่อเราเริ่มเข้ามาสู่สวนสาธารณะหนองข่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม เราจะพบกับบรรยากาศที่ร่มรื่นของต้นไม้หลากหลายชนิด ทำให้รู้สึกสบายและได้สูดอากาศที่สดชื่น เมื่อมองไปที่กลางสวนสาธารณะจะพบกับอนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช (กวด) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก  และด้านหลังของอนุสาวรีย์จะพบกับอาคารทรงไทยประยุกต์ นั้นคือตัวพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามนั่นเอง เมื่อเราเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามแห่งนี้
 สิ่งแรกที่เราจะพบและสัมผัสคือแผนที่ที่แสดงอาณาเขตของจังหวัดมหาสารคาม พร้อมทั้งบอกถึงแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม เมื่อเดินเข้าไปจะพบภาพถ่ายทางอากาศของเมืองมหาสารคาม ซึ่งถ่ายสามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยจะสื่อความหมายว่า เมืองมหาสารคามนั้นได้มีการขยายตัวจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จนกระทั้งสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2540 เมื่อเมืองมหาสารคามได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นเมืองมากขึ้น แต่ยังอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “เมืองซ้อนชนบท”  เมื่อเดินต่อมาจะเป็นภาพถ่ายที่มีปุ่มไฟสำหรับกดว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ได้ ประกอบด้วย 4 ปุ่ม ได้แก่ กุดนางใยหรือกุดยางใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาสารคาม กุด/กุฎิ = มหา , ยางคือต้นไม้ชนิดหนึ่งภาษาบาลี = สาละ ,  ใหญ่ = มหา จึงรวมกันว่า มหาสาลคาม แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นมหาสารคามดังเช่นที่ทราบกันในปัจจุบัน  ปุ่มต่อไปคือตึกดิน ที่ชาวจีนได้สร้างขึ้นเพื่อประกอบการค้าขายภายในเมืองมหาสารคาม และถือได้ว่าชาวจีนมีส่วนที่ทำให้เมืองมหาสารคามมีความเจริญก้าวหน้าด้วย ปุ่มต่อมาจะเป็นหอนาฬิกาที่สร้างขึ้นในบริเวณที่สูงที่สุดของเทศบาล ในบริเวณหอนาฬิกาในปัจจุบันนั้นเอง ปุ่มสุดท้ายคือตลาดของเรา เป็นตลาดของเทศบาลเมืองมหาสารคาม เดิมมีการสร้างด้วยไม้ แต่ปัจจุบันได้ทำเป็นอาคารโค้งซึ่งเป็นศูนย์ราชการเช่น สำนักงานเทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นอาคารพานิชย์
 เมื่อเราเดินต่อไปจะพบกับกู่บ้านเขวาซึ่งเป็นปราสาทในสายวัฒนธรรมเขมร สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรศที่ 17 โดยใช้เป็นโรงพยาบาลที่เรียกว่าอโรคยาศาล แต่ทับหลังที่จำลองมานั้นเป็นทับหลังสลักภาพรัตนตรัยมหายาน ซึ่งขุดพบที่กู่บ้านแดง  ภายในปราสาทหลังนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องยาและการรักษาโรค ชื่อว่า พระไภษัชยคุรุไวฑูรประภา เมื่อเดินต่อไปอีกจะพบตู้ไม้ที่จำลองพระพิมพ์ที่ขุดพบในเขตจังหวักมหาสารคามได้แก่ พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบที่ท้องที่อำเภอนาดูน ซึ่งเคยเป็นเมืองจำปาศรี และพระกันทรวิชัย ซึ่งขุดพบที่ท้องที่อำเภอกันทรวิชัย ที่เคยเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับเมืองจำปาศรี อำเภอนาดูน
เมื่อเราเดินเลี้ยวขวาไปตามทางเดินจะพบกับห้วยคะคาง ซึ่งเป็นลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวมหาสารคามตั้งแต่สมัยพระเจริญราชเดช(ท้าวกวด) เป็นเจ้าเมืองและได้เลือกตั้งเมืองริมห้วยคะคาง หลังจากที่เคยไปตั้งเมืองบนที่ดอนมาแล้ว และห้วยคะคางยังคงหล่อเลี้ยงชาวมหาสารคามมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเรามองตรงไปข้างหน้าจะพบกับศาลปู่ตา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ชาวมหาสารคามทุกหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ โดยจะมีการสร้างศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะเลือกพื้นที่ที่เป็นป่าชุมชนในการตั้งศาล และตรงกันข้ามจะเป็นภาพถ่ายศาลปู่ตาในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งมีทั้งหมด 11 แห่งด้วยกัน
และเมื่อเดินต่อไปจะเป็นการจำลองร้านถ่ายภาพ ชื่อร้านศรีอรุณ ของคุณพ่อ ศรี ศรีสารคามเอาไว้ โดยจะมีอุปกรณ์การถ่ายภาพและภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้ด้วย
เมื่อเราเดินขึ้นบันไดไปจะพบกับภาพวาดสีน้ำที่อธิบายถึงการสักการะพระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยในภาพจะเป็นชาวบ้านถือเทียนเพื่อที่จะไปบูชาพระธาตุนาดูนและกู่สันตรัตน์ เมื่อมองขึ้นไปตรงบันไดจะพบกับพระธาตุนาดูนและมีพระพุทธรูปสององค์อยู่ข้างๆ ทั้งซ้ายขวา ทางด้านซ้ายของพระธาตุนาดูนจะเป็นพระวัชรธร ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในนิกายมหายาน เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกที่เกิดขึ้นในโลก มือข้างหนึ่งถือสายฟ้าและอีกข้างหนึ่งถือกระดิ่ง
เมื่อเราเดินต่อมาจะพบกับภาพวาดสีน้ำในเรื่องประเพณีสิบสองเดือน หรือที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง ต่อมาจะเห็นเสาหลักเมืองจำลองและสารตราตั้งเมืองมหาสารคามขนาดใหญ่ และรูปถ่ายเจ้าเมืองเรียงตามการครองเมืองมหาสารคาม ในสมัยที่ยังไม่ยกเลิกระบบการปกครองเดิม ที่เรียกว่า อาญาสี่ รวมทั้งจัดแสดงสิ่งของที่เจ้าเมืององค์ต่างๆเคยใช้ เมื่อเดินมาจามทางเลี้ยวจะพบกับแผนที่ที่แสดงการอพยพเข้ามาของคนจีน ที่อพยพมาจากที่ต่างๆ เช่น บ้านไผ่ , ร้อยเอ็ด , กาฬสินธุ์  เป็นต้น ต่อมาจะเป็นทางเลี้ยว เรามองตรงไปจะพบกับรูปภาพสถานศึกษาต่างๆ ในเมืองมหาสารคาม จนได้เรียกว่าเมืองแห่งการศึกษา หรือ ตักศิลานคร ระหว่างทางเดินปสู่พานบายศรีสู่ขวัญที่ใช้ในพิธีกรรมบุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม จะพบกับการจำลองขณะที่เรายืนอยู่ในบ้านดินและมองออกไปยังถนน เมื่อถึงพานบายศรีสู่ขวัญจะมีการจำลองเครื่องเซ่นไหว้ได้แก่ มะพร้าว ไก่ เผือกและมันต่างๆ
เมื่อเรามองไปทางขวามือของพานบายศรีสู่ขวัญจะพบผ้าสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสีประจำเทศบาลเมองมหาสารคามผืนใหญ่ปักตราเทศบาลเมืองมหาสารคาม  ตรงกันข้ามจะเป็นรูปภาพของนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามตั้งแต่คนแรกจนถึงคนปัจจุบัน และมีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้สำนักงานเทศบาลเมืองมหาสารคามในอดีต เช่น เครื่องพิมพ์ดีดี โทรศัพท์ เป็นต้น
เมื่อเราเดินต่อมาทางขวามือจะพบกับตู้ลิ้นชักขนาดใหญ่ ที่ใช้เก็บข้อมูลสายตระกูลที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม สุดท้ายจะพบกับคำถามที่ว่า “ เราได้เตรียมอะไรไว้ให้ลูกหลาน เพื่อสร้างสรรค์เมืองมหาสารคามอย่างยั่งยืน
หากท่านต้องการสัมผัสบรรยากาศจริง ของเชิญไปเยี่ยมชมได้ในวันและเวลาราชการ ที่สวนสาธารณะหนองข่า เทศบาลเมืองมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม