หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กบฎที่เกิดขึ้นในมหาสารคาม พ.ศ. ๒๔๔๓ - ๒๔๔๕

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ - ๒๔๔๕ ได้เกิดมีกระแสความเชื่อแพร่ไปทั่วมณฑล อุดร มณฑล อีสาน และมณฑล นครราชสีมา ว่าจะเกิดอาเพศต่าง ๆ เช่นหากใครเอาหินแฮ่ หรือหินลูกรัง จากวัดบ้านหนองเลามาบูชา เมื่อถึงวันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีฉลู จ.ศ.๑๒๖๓ (๒๓ มีนาคม ๒๔๔๔) ซึ่งจะเกิดลมพายุพัดจัดท้องฟ้าจะมืดมิด ๗ วัน ๗ คืน ก้อนหินที่นำมาบูชาจะกลายเป็นทองคำ หากใครมีม้อน (ตัวไหม) หมู และควายตู้ (ควายเขาทุย) จะเกิดโทษภัย และอื่น ๆ อีกหลายประการ ในช่วงนี้ได้เกิดมีผู้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยเวทมนตร์ เป็นจำนวนมาก
            ที่เมืองมหาสารคามมีท้าวบุญรอดเป็นหัวหน้า ตั้งตัวเป็นท้าวโพธิสัตว์ และผู้วิเศษอื่น ๆ หลอกลวงชาวบ้านให้นับถือ ทางการได้จับกุมได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕
            นอกจากนี้ก็มี กบฎหมอลำน้อย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ กบฎเกือกขาว และ กบฎสอนธรรมวิเศษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แต่ได้ถูกทางการจับกุมลงโทษจำคุกไปทุกราย 
นโยบายนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้พลเมืองระดับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะพวกมูลนายไปเร่งรัดเอาเงินซึ่งเก็บมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เสมอกัน ในปี ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) รัฐบาลจึงออกกฎให้ทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาท เป็นมาตรฐานแต่นั้นมา
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ มาตรฐานดังกล่าวข้างต้นถูกกำหนดขึ้นมาจากมาตรฐานเศรษฐกิจของภาคกลาง ซึ่งได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตราแล้วอย่างชัดเจน และได้เริ่มมีการเรียกเก็บภาษีจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีคำสั่งให้ข้าหลวงต่างพระองค์เข้าจัดระบบภาษีทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในปีร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอิสาน (ข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลราชธานีระหว่างร.ศ.112-130 / พ.ศ.2435-พ.ศ.2453) ประกาศให้เก็บค่ารัชชูปการชายฉกรรจ์ผู้มีอายุระหว่าง 18-60 ปี คนละ 3.50 บาท ยกเว้นคนพิการ ข้าราชการ เจ้านายระดับท้องถิ่นและครอบครัว ชาวต่างชาติ นักบวชและพระ ช่างผีมือและเศรษฐี
ในปีร.ศ.120- ร.ศ.121 (พ.ศ.2444- พ.ศ.2445) เงินค่ารัชชูปการเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาทต่อคน นอกจากนี้ภาษีผลผลิตก็ยังเพิ่มขึ้นด้วย การปรับปรุงภาษีและระบบภาษีนี้เพิ่มภาระให้กับชาวนาชาวไร่อย่างมาก และนอกจากนี้ข้าหลวงสยามยังมีคำสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีก อันมีผลโดยตรงต่อชาวนา ตัวอย่างเช่น ในปีพ.ศ. 2442 กรมหลวงสรรพสิทธิฯ กำหนดว่าการค้าขายสัตว์ใหญ่ ต้องกระทำต่อหน้าข้าราชการ โดยผิวเผินข้อกำหนดนี้ดูเหมือนเพื่อลดการลักขโมย แท้จริงแล้วเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชประจำถิ่นมีส่วนในการกำหนดราคาซื้อขายควาย ปศุสัตว์ ม้าและช้าง ฯลฯ กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ยังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมพื้นเมืองต่างๆ เช่น การสักยันต์ตามร่างกาย ซึ่งคนไทยมองว่าเป็นสิ่งป่าเถื่อน แต่คนพื้นเมืองมองว่าเพื่อป้องโรคภัย ไข้เจ็บ และผีสางต่างๆ
แม้กระนั้นก็ตาม ในช่วงที่รัฐสยามกำลังเปลี่ยนแปลงโดยรวม แต่สังคมอิสานนั้นก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การเมือง ที่เกิดขึ้นของรัฐสยามมากนัก ซึ่งก็ยังคงเป็นลักษณะสังคมแบบจารีตประเพณี และยังเป็นสังคมแบบเลี้ยงตนเอง พึ่งตนเอง และสิ่งที่หมู่บ้านในสังคมอิสานได้รับผลกระทบในระยะแรก คือการเกิดขึ้นของโรงสี พ่อค้าชาวจีน การขยายตัวของระบบเงินตราและมีการเปลี่ยนแปลงทางเครื่องมือการผลิตบ้างเพียงเล็กน้อย
กระทั่งในปีชวดร.ศ.119 (พ.ศ.2443) ปรากฏว่ามีลายแทงหนังสือจานใบลานเป็นคำพยากรณ์ว่าเมื่อถึงกลางเดือนหกปีฉลู ร.ศ.120(พ.ศ.2444) จะเกิดเหตุเภทภัยใหญ่หลวง หินแฮ่ (หินลูกรัง) จะกลายเป็นทอง จึงได้มีชาวบ้านไปเอาหินแฮ่มาบูชา โดยใส่หม้อ ใส่ไหปิดฝาไว้ แล้วเอามาตั้งทำพิธีสู่ขวัญบายศรี คำพยากรณ์นั้นยังมีรายละเอียดอีกว่าถ้าใครอยากพ้นเหตุเภทภัยก็ให้บอกหรือคัดลายแทงให้รู้กันต่อๆ ไป หรือถ้าใครเป็นคนบริสุทธิ์ไม่ได้กระทำซึ่งบาปกรรมใดๆ แล้ว (หรือใครก็ตามที่อยากรวย) ให้เอาหินแฮ่เก็บมารวมกันไว้ รอท้าวธรรมิกราชจะมาชุบเป็นเงินเป็นทอง ถ้าใครกระทำชั่วต่างๆ แต่เพื่อให้ตนเป็นคนบริสุทธิ์ก็ต้องทำพิธีตัดกรรมวางเวร โดยนิมนต์พระสงฆ์มารดน้ำมนต์ให้ ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าควายทุยเผือกและหมูเสียก่อนกลางเดือนหก เพราะมันจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นมาจับกินคน ส่วนผู้หญิงที่เป็นสาวหรือไม่สาวแต่ยังโสดก็ให้รีบมีสามี มิฉะนั้นยักษ์จะจับกินหมด และรากไม้ที่อยู่ตามฝั่งน้ำ ซึ่งเป็นฝอยเล็กละเอียด รวมถึงฟักเขียว ดอกจาน (ทองกวาง) ของสามอย่างนี้จะกลายเป็นของมีประโยชน์ คือรากไม้จะกลายเป็นไหม ฟักเขียวจะกลายเป็นช้าง ดอกจานจะกลายเป็นครั่งสำหรับใช้ย้อมไหม และในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2444 นั้น จะเกิดลมพายุจัดจนพัดคนปลิวไปกับสายลม และจะมืดถึง 7 วัน7 คืน ให้นำลิ้นฟ้า (ไม้เพกา) มาไว้สำหรับจุดไฟอาศัยแสงสว่างในเวลามืด และให้ปลูกตะไคร้ที่กระได (บันไดบ้าน) เวลาพายุมาให้เหนี่ยวตะไคร้ไว้ จะได้ไม่ปลิวไปตามลม เงินต่างๆ ที่มีก็จะกลายเป็นเหล็ก พวกราษฎร์เวลานั้นก็ได้พากันหวาดหวั่นเล่าลือกันแพร่หลายไปทั่วหัวเมืองมลฑลอิสาน ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ ที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ นั้น เห็นว่าเป็นคำของคนโง่เขลาเล่าลือกันไปสักพักหนึ่งก็คงจะเงียบหายไปเอง จึงไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายนัก

พอตกถึงปลายปี ร.ศ.119 (พ.ศ.2443) ก็ปรากฏว่าที่เมืองเสลภูมิ ได้มีราษฎร์หัวเมืองต่างๆ ไปเก็บหินแฮ่ทางตะวันตกเมืองเสลภูมิ ซึ่งชาวบ้านได้เรียกที่ตรงนี้ต่อๆ กันมาว่า หัวโล่เมืองเสล” (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด) ส่วนข่าวลายแทงว่าท้าวธรรมิกราชหรือผู้มีบุญจะลงมาโปรดโลกทางด้านอื่นๆนั้น หาได้ยุติลงแม้แต่น้อย ยิ่งแพร่หลายไปทั่วมณฑลอุดร เมืองหล่ม เมืองเลย และทางมณฑลนครราชสีมา ตลอดจนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในบำรุงฝรั่งเศส ชาวบ้านเชื่อถือคำทำนายนี้มากเพราะว่าหากเป็นจริงก็หมายถึงชาวบ้านจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อยู่ดีกินดีทั้งทางวัตถุและจิตใจโดยทันทีด้วยอิทธิฤทธิ์ ของผู้มีบุญ
ขณะเดียวกันก็เกิดมีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วทั้งภาคอิสาน คือที่กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อถือผู้มีบุญ และผู้มีบุญเหล่านี้มักมีพฤติกรรมคล้ายๆ กันคือ อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษ จุติมาจากสวรรค์เพื่อมาบอกธรรมแก่ชาวบ้านให้ถือศีล กินถั่วกินงา ตัวผู้มีบุญมักแต่งตัวประหลาดๆ เช่น นุ่งขาวห่มขาว ถือเทียนและดอกไม้ทำน้ำมนต์ และทำพิธีตัดกรรมวางเวร หลายคนอ้างตัวว่าเป็นพระยาธรรมิกราช หรือพระศรีอาริยเมตไตรย ลงมาโปรดโลกมนุษย์ ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นสมบูรณ์พูนสุขพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ใช่การรอดพ้นทุกข์แบบตัวใครตัวมัน และบ้านเมืองก็จะ ไม่มีเจ้ามีนาย ใบไม้จะกลายเป็นเงินเป็นทอง แผ่นดินเป็นตาผ้า แผ่นฟ้าเป็นใยแมงมุม
ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องราวรายละเอียดเฉพาะกลุ่มเจ้าผู้มีบุญที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือกลุ่มขององค์มั่นหรือมาน บ้านสะพือใหญ่ เมืองอุบลราชธานี (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ครั้นเมื่อถึงปลายปีร.ศ.119 (พ.ศ.2443) มีนายมั่น ว่าเป็นคนมีภูมิลำเนาอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือเมืองสุวรรณเขต ซึ่งมีสายสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นลูกน้องขององค์แก้วหรือบักมี ซึ่งเป็นเจ้าผู้มีบุญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเขตลาวฝั่งซ้าย เล่าลือกันว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ชี้ไม้ชี้มือทำอะไรสิ่งไหนเป็นสิ่งนั้น และได้ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าปราสาททองหรือพญาธรรมิกราช อ้างตัวว่าจุติมาจากสวรรค์เพื่อลงมาโปรดมวลมนุษย์ และมีองค์ต่างๆ เป็นลูกน้องหรือบริวารในระดับรองลงมาอีกหลายคน เช่นองค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์ที องค์พระบาท องค์พระเมตไตรย และองค์เหลือง พวกองค์เหล่านี้แต่งตัวนุ่งผ้าจีบแบบบวชนาคสีต่างๆ กัน คือ สีแดง สีเขียวเข้ม และสีเหลืองอย่างจีวรของพระ แล้วก็มีปลอกใบลานเป็นคาถาสวมศีรษะทุกคน องค์มั่นได้พาพวกองค์บริวารเดินทางไปในท้องที่ต่างๆ และชักชวนชาวบ้านให้เข้าร่วมด้วย โดยเริ่มจากร่วมมือกับองค์ฟ้าลั่นหรือหลวงวิชา (บรรดาศักดิ์ประทวน) แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นหมอพื้นเมืองของเมืองตระการพืชผล (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี) 
โดยองค์มั่นตั้งให้เป็นหัวหน้ายามรักษาการณ์และคอยเสกคาถาอาคมให้กับชาวบ้าน จากนั้นได้ไปซ่องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองโขงเจียมและบ้านนาโพธิ์ ตำบลหนามแท่น แล้วก็ป่าวร้องกับราษฎร์ว่า จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นดังคำพยากรณ์ให้พากันระวังตัว” ฝ่ายราษฎร์หวาดหวั่นกันอยู่แล้ว ครั้นเห็นคนจำศีลแปลกหน้ามาก็สำคัญว่าเป็นผู้มีบุญและพากันเข้าไปขอให้ช่วยป้องกันภัยพิบัติ มีชาวบ้านเข้าร่วมด้วยประมาณ 200 คนเศษ จากนั้นก็เข้าไปเกลี้ยกล่อมผู้คนที่เมืองเขมราฐ
เวลานั้นได้มี พระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาเมืองเขมราฐ และท้าวกุลบุตรผู้ช่วยกับท้าวโพธิสาร กรมการเมือง ต่อต้านขับไล่ไม่ให้ราษฎร์นับถือเข้าเป็นพรรคพวกด้วย เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้ท้าวกุลบุตรกับท้าวโพธิสารเสียชีวิต ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ฝ่ายพวกผู้มีบุญมิได้ทำร้าย เพียงแต่จับขึ้นแคร่หามเป็นตัวประกัน แห่ไปให้เกลี้ยกล่อมราษฎรให้มาเข้าเป็นพวก และได้ไปตั้งมั่นที่บ้านสะพือใหญ่ มีชาวบ้านนับถือและเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน องค์มั่นผู้มีบุญก็สั่งให้ช่วยกันเกณฑ์ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา มีดพร้า ตลอดจนเสบียงอาหาร ข้าว เกลือ พริกต่างๆ เท่ามี และให้ตากข้าวเหนียวสุกยัดใส่ถุงผูกรอบเอว เตรียมจะไปตีเอาเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายทางเมืองอุบลราชธานี ขณะที่องค์มั่นผู้มีบุญตั้งพิธีการอยู่บ้านสะพือใหญ่นั้น ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบข่าวก็ได้สั่งให้นายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร่าย (เป็นทหารกองหนุนเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายพลเมืองอยู่กับข้าหลวงต่างพระองค์ฯที่เมืองอุบล) ไปสืบลาดเลาดู พอไปถึงบ้านนาสมัย ที่อยู่ระหว่างบ้านนาหลักกับบ้านห้วย ทางแยกไปอำเภอพนานิคม ก็พบกับพวกผู้มีบุญซึ่งได้ออกมาสืบลู่ทางเพื่อจะไปเมืองอุบลฯ เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ฝ่ายหม่อมราชวงศ์ร่ายมีกำลังน้อยกว่าก็เลยรีบถอยกลับไปเมืองอุบลฯ กราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ตามที่ได้ไปสืบรู้และเห็นมา พวกผู้มีบุญก็ได้ชื่อว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดินนับจากนั้น ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบข่าว จึงมีคำสั่งให้นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการกองพันทหารราบเมืองอุบลฯ จัดทหารออกไปสืบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ถ้ามีผู้ใดคิดการร้ายต่อแผ่นดินก็ให้ปราบและจับตัวมาสอบสวนลงโทษให้ได้ นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาลจึงมีคำสั่งให้นายร้อยตรีหรี่กับพลทหาร 12 คนพร้อมอาวุธปืนยาวครบมือ ออกไปสืบดูเหตุการณ์ เมื่อไปถึงบ้านขุหลุ ก็พบพวกกบฏผู้มีบุญ และเห็นว่ามีกำลังสู้กบฏผู้มีบุญไม่ได้ จึงจะไปหากำลังเพิ่มเติมจากบ้านเกษม แต่ก็ได้เกิดการต่อสู้ตะลุมบอนกันขึ้นที่บริเวณ หนองขุหลุ” และได้เหลือเพียงพลทหารชื่อป้อมรอดกลับมาเพียงคนเดียว และได้นำความเข้ากราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์ฯ โดยทันทีฝ่ายกบฏผู้มีบุญเมื่อชนะทหารคราวนี้ ก็ได้มีชาวบ้านมาสมัครเข้าเป็นพรรคพวกด้วยราว 1,500 คน และมีความตอนหนึ่งบรรยายถึงชัยชนะดังกล่าวเป็นบทเซิ้งภาษาอิสานว่า
ทิงสองบั้งสังมาบ่ทันขาด สังมาตะลาดล้มเต็งน้องเนตรนอง หัวหนองบ่ทันเศร้าสังมาเทียวทางใหม่ เป็ดไก่เลี้ยงสู่มื่อบ่คุ้นแก่นคน สังบ่สนเคาไว้ไถนาคือสิค่อง ข้าวกากไกลข้าวก้อง สองซู้สิห่างกัน ขางเฮือนไกลขางเล้า(ยุ้งฉางข้าว) หนีไปเซาไกลท่า ไก่ป่าไกลไก่บ้านขันท้าอยู่ละเนอ
ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบความก็ได้ตรัสว่า ไอ้การใช้เด็กหนุ่ม มันกล้าเกินไป หุนหันพลันแล่น ขาดความพินิจพิเคราะห์ เสียงานดังนี้” จึงทรงสั่งให้หลวงสรกิจพิศาลมีคำสั่งไปถึงนายร้อยเอกชิตสรการผู้บังคับการกองทหารปืนใหญ่ให้นำนายสิบพลทหารประมาณ 100 คนเศษ มีปืนใหญ่ 2 กระบอก และปืนยาวเล็กครบมือ ออกไปปราบพวกกบฏผู้มีบุญให้จงได้ และได้ทรงสั่งให้พระอุบลการประชานิตย์ ข้าหลวงบริเวณเมืองอุบลฯ กับพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (ผู้รักษา-การเมืองอุบลฯ ) เกณฑ์กำลังชาวบ้านสมทบกับทหาร และสั่งให้เคลื่อนขบวนกำลังออกไปปราบเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2444 และพอวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2444 ก็ได้พักพลอยู่ห่างจากหมู่บ้านและค่ายของกบฏผู้มีบุญราว 50 เส้น (1 กิโลเมตร)
นายร้อยเอกหลวงชิตสรการ (ผู้บังคับบัญชาไพร่พล) ได้สั่งให้แบ่งทหารออกเป็นปีกซ้าย ปีกขวา และให้เข้าโอบล้อมพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงปืนใหญ่เป็นนัดแรก นายร้อยหลวงเอกชิตสรการเลือกได้ชัยภูมิที่ดี เป็นสายทางย่านตรงที่จะไปยังเมืองอุบลฯ และเป็นทางแคบ สองข้างทางเป็นป่าทึบเหมาะสำหรับตั้งดักซุ้มทหารไว้ในป่า ตรงหัวโค้งเลี้ยว และตั้งปืนใหญ่ไว้ใต้พุ่มไม้ เมื่อพวกกบฏผู้มีบุญมาถึงตรงช่องนั้นก็ให้ยิงปืนใหญ่เข้าใส่
ครั้นรุ่งขึ้นของวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2444 เวลาประมาณ 09.00 น. พวกกบฏผู้มีบุญก็ได้ยกกำลังจะไปตีเมืองอุบลฯ และผ่านตามทางที่ร้อยเอกหลวงชิตสรการซุ่มปืนใหญ่ และดักกองทหารพรางไว้ จากนั้นก็ได้สั่งให้ทหารปืนเล็กยาวออกขยายแถว ยิงต้านไว้แล้วทำเป็นถอยล่อให้พวกกบฏผู้มีบุญตามมายังชัยภูมิที่ตั้งไว้ พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ ก็สั่งให้ยิงออกไปนัดหนึ่ง โดยตั้งศูนย์ให้ข้ามพวกกบฏผู้มีบุญไปก่อนเพื่อเป็นสัญญาณให้ปีกซ้ายปีกขวารู้ตัว ฝ่ายกบฏผู้มีบุญเห็นกระสุนปืนใหญ่ไม่ถูกพวกตนก็โห่ร้อง ซ่า ซ่า และวิ่งกรูเข้าต่อสู้กับฝ่ายทหาร หลวงชิตสรการจึงสั่งให้ยิงออกไปอีกเป็นนัดที่ 2 เล็งกระสุนปืนใหญ่กะให้ตกระหว่างกลางพวกกบฏผู้มีบุญ คราวนี้กระสุนปืนใหญ่ระเบิดลงถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญล้มตายหัวเด็ดตีนขาดระเนระนาด ส่วนพวกทหารปืนเล็กสั้นยาว ปีกซ้ายปีกขาว ก็ระดมยิงโห่ร้องซ้ำเติมเข้าไปอีก ฝ่ายกบฏผู้มีบุญที่อยู่ข้างหลังเห็นดังนั้นก็ชะงัก และปืนใหญ่ก็ยิงซ้ำเข้าไปอีกนัดที่ 3 ถูกพวกกบฏผู้มีบุญล้มตายประมาณ 300 คนเศษ ที่เหลือก็แตกฮือหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนองค์มั่นนั้นรอดชีวิตและปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีไป ทหารและกำลังชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์มาก็ได้ออกตามล่าจับกุมแต่ไม่ทัน และไม่ทราบว่าหนีไปทางใด ทราบข่าวตอนหลังว่าได้หลบหนีข้ามฟากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาการเมืองเขมราฐซึ่งถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญจับกุมตัวไว้คราวนั้น ไม่ได้รับอันตรายจากกระสุนปืนใหญ่ หลวงชิตสรการ จึงได้นำตัวมาเข้าเฝ้าข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รวมทั้งคุมพวกกบฏผู้มีบุญที่รองๆ จากองค์มั่นและพรรคพวกชาวบ้านที่เข้าร่วมด้วยจำนวนทั้งสิ้น 400 คนเศษ คุมใส่ขื่อคาจองจำไปยังเมืองอุบลฯ เพื่อฟังรับสั่งจากข้าหลวงต่างพระองค์ต่อไป ส่วนข้าหลวงต่างพระองค์ก็มีตราสั่งไปทุกหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงว่า “ให้ผู้ว่าราชการเมือง กรมการ เจ้าหน้าที่สืบจับพวกกบฏผีบุญที่กระเซ็นกระสายและหลบหนีคราวต่อสู้กับทหาร อย่าให้มีการหลบหนีไปได้เป็นอันขาด หรือผู้ใดที่สมรู้ร่วมคิดและปกปิดพวกเหล่าร้ายและเอาใจช่วยให้หลบหนีไปได้ จะเอาโทษแก่ผู้ปิดบัง และเจ้าหน้าที่หัวเมืองนั้นๆ อย่างหนัก
ฝ่ายกบฏเจ้าผู้มีบุญต่างเชื่อถือว่าอุดมการณ์พระศรีอาริย์เป็นอุดมการณ์ที่มีเป้าหมายสูงสุด คือเพื่อการปฏิวัติสังคมไปสู่สังคมที่ไม่มีชนชั้นของมนุษย์ และมีความอยู่ดีกินดีสมบูรณ์พูนสุขทั้งทางจิตใจและวัตถุ ทำให้อุดมการณ์นี้ถูกนำไปใช้ในขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านซึ่งปรากฏเป็นจำนวนหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ที่ปรากฎชัดเจนที่สุดคือขบวนการผู้มีบุญภาคอิสานซึ่งมีหลายสาเหตุปัจจัย ที่เป็นตัวผลักดันให้ก่อเกิดเป็นรูปของการเคลื่อนไหว ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อเรียกหาความเป็นอิสระและความเป็นธรรมให้กับตนเองและสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ และเนื่องจากสังคมอิสานเองนั้น ก่อนที่จะมีขบวนการผู้มีบุญเกิดขึ้น ก็กำลังเผชิญในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสภาพการเมืองและเศรษฐกิจจากภายนอก ซึ่งจะพบว่าเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง (พ.ศ.2398) มีผลกระทบต่อชาวนาภาคอื่นค่อนข้างน้อยกว่าภาคอิสาน เพราะภาคอิสานนอกจากจะเป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกขนาดใหญ่ของประเทศแล้ว ในยุคนั้นยังมีของป่าต่างๆ นาๆ ไม่แพ้ภาคอื่นๆ แต่การขนส่งก็ถือว่าค่อนข้างยากลำบากพอสมควร เนื่องจากเพิ่งมีการขยายเส้นทางสร้างสถานีรถไฟ ที่ไปถึงเพียงแค่นครราชสีมาเท่านั้นเอง (ในหนังสือที่ต่อมา นำมาสร้างเป็นละครเรื่องนายฮ้อยทมิฬ ที่เขียนโดยคำพูน บุญทวี ได้บรรยายให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของสังคมภาคอิสานพอสมควร ที่ทั้งต้องเผชิญกับภาวะแวดล้อมที่แห้งแล้ง และการอยู่กินตามมีตามเกิด)
หากมองในแง่ของวิธีการทำงานขยายมวลชนของกบฏผู้มีบุญ จะเห็นว่าได้มีการนำเอาความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงร้อยกันกับธรรมชาติและยังหลอมรวมกับพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาแบบทางการ พระหรือวัดนั้นถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงกับการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เช่น หากไม่สบายก็จะมาให้พระที่วัดรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ผูกด้ายสายสิญจ์ข้อมือ ปัดเป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ฯลฯ และนอกจากนี้ยังมีหมอธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ผ่านการบวชเรียน มาทำพิธีกรรมปัดเป่าโรคภัย ไข้เจ็บให้กับชาวบ้าน
ในเรื่องของอุดมการณ์ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมาย หลักคิด และวิธีคิดที่สำคัญอันจะนำไปสู่การปฎิบัตินั้น ผู้เขียนมีความเห็นคล้ายๆ กับ อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ตรงจุดที่ว่าอุดมการณ์กบฏผู้มีบุญคืออุดมการณ์ของการปฎิเสธรัฐและต้องการเป็นอิสระจากอำนาจของรัฐ แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าอุดมการณ์ของกบฏผู้มีบุญนั้นต้องการระบบการปกครองแบบใหม่ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่ ที่ไม่ต้องการขึ้นตรงต่อรัฐเลย และหากมองในแง่สังคมศาสตร์ที่อำนาจการปกครองได้ถูกรัฐควบคุมไว้นั้น กบฏผู้มีบุญไม่สามารถที่จะเป็นอิสระจากรัฐได้อย่างแน่นอน (ตามกฎเกณฑ์การพัฒนาการของสังคมมนุษย์นั้น ตราบใดที่ไม่ทำลายรัฐลงไปให้หมดสิ้นเสียก่อน รัฐที่เข้มแข็งก็จะใช้กลไกมาทำลาย ครอบงำและปกครองอย่างนั้นสืบไป) หากทว่าไม่ร่วมกันถอดรื้อระบบแบบเก่าให้คลายตัวลงทั้งหมดเสียก่อน ส่วนทิศทางในการอยู่ร่วมกันของกบฏผู้มีบุญนั้นอาจจะไม่ใช่ระบบสังคมนิยมแบบชาวบ้านเสียทีเดียวด้วยซ้ำ แต่อาจเป็นระบบหมู่บ้านแบบใหม่หรือระบบหมู่บ้านแบบปิด ที่มีการจัดระเบียบในเรื่องต่างๆ เช่น ในเรื่องของทรัพยากรชุมชน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่เป็นปัจจัยหลักในการหล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านหรือในชุมชน โดยมีข้อตกลงร่วมกันของมติหมู่บ้านว่าอันไหนควรทำได้อันไหนไม่ควรทำ ซึ่งอาจจะมีการจัดระเบียบหมู่บ้านที่ไม่เหมือนกรณีของขบถนายศิลา วงศ์สิน (พ.ศ.2502) เพราะสภาพสังคมโดยรวมของหมู่บ้านนั้นย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างแน่นอน หากหมู่บ้านไม่เข้มแข็งพอที่จะมีแรงต้านทานกระแสของสังคมที่พัฒนาในเชิงวัตถุ

ส่วนในด้านการจัดองค์กรนั้น รูปแบบโครงสร้างการจัดองค์กรของกบฏผู้มีบุญ เป็นไปแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีสัตยาบันหรือโองการแช่งน้ำใดๆ เพียงแต่ศรัทธาต่อความเชื่อในอุดมการณ์พระศรีอาริย์ ก็มาเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏผู้มีบุญได้เลย โดยผู้ที่ชวนกันมาเข้าร่วมนั้นจะรู้จักมักคุ้นกันแบบพี่น้องหรือเครือญาติ และไม่มีระเบียบแบบแผนอะไรมากมายนัก

ส่วนในด้านการนำหรือผู้นำ รวมทั้งการตัดสินใจนั้น ถือว่ามีการรวมศูนย์ไว้ที่ฝ่ายหัวหน้าของกบฏผู้มีบุญ และผู้ที่เข้าร่วมในขบวนการส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ กำลังพลที่มีอยู่นั้นถือว่าไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้าน และนอกจากนี้ยังขาดองค์ความรู้ทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้ใช้อาวุธ ส่วนอาวุธที่ใช้ก็เป็นแบบหาได้เท่าที่จะมีกัน ดังนั้นถ้ามองในแง่การต่อสู้ของกบฏผู้มีบุญ ถือว่าอยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับกำลังของฝ่ายรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์

ส่วนในด้านสภาพทางสังคมหรือภูมิศาสตร์ ในระยะเวลาก่อนเกิดการเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญนั้น พบว่าเขตมณฑลอิสานประสบปัญหาฝนแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี ชาวบ้านทำนาไม่พอกิน

(และบางหมู่บ้านยังได้อพยพไปอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในเขตของนครเวียงจันทร์และนครจำปาศักดิ์ ซึ่งเมื่อก่อนถือนั้นว่าเป็นประเทศราชของสยามในยุครัชกาลที่ 3 และสงครามสยาม-ลาว ในปีพ.ศ.2370 ที่เรียกกันว่า ศึกเจ้าอนุวงศ์” ผู้ปกครองเวียงจันทร์และจำปาศักดิ์ ที่พยายามปลดปล่อยตัวเองออกจากอำนาจการปกครองของสยามประเทศ และต้องการเข้าครอบครองที่ราบสูงโคราชทั้งหมดคืน ได้ยุติลงด้วยการพ่ายแพ้ ของกษัตริย์ราชวงศ์ลาว และถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของอาณาจักรเวียงจันทร์ ส่วนทางสยามเองก็ได้กวาดต้อนเชลยลาว เอามาไว้เลี้ยงม้าเลี้ยงช้าง และให้ตั้งรกรากอยู่ในแถบฝั่งธนบุรีและเขตบางบอนในยุคนั้น อันเป็นที่มาส่วนหนึ่งของเพลงลาวแพนที่เชลยลาวได้เขียนบรรยายถึงสภาพชีวิตอันลำบากของตัวเอง และยังมีการนำมาร้องกันอยู่ในปัจจุบันนี้ และเมื่ออิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มคุกคามแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนที่เป็นเขมร ลาว ญวน จะพบว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ของไทยได้เข้าไปแทรกแซงการปกครองหัวเมืองลาวโดยตรงมากยิ่งขึ้น เริ่มจากปีพ.ศ.2434 และต่อมาในปีพ.ศ.2437 หลังการเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว รัฐสยามก็ได้เริ่มจัดการปกครองในระบอบเทศาภิบาล มีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลต่างๆขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อรวมอาณาเขตทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้อธิบายไว้ใน หนังสือเรื่องนิทานโบราณคดีพระนคร ซึ่งตรงจุดนี้อาจจะค่อนข้างนอกเรื่องแต่ผู้เขียนอยากนำข้อมูลมาเสนอให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของปัจจัยปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดขึ้นของกบฏผู้มีบุญ ซึ่งอาจเป็นเพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้น)

ส่วนในบางพื้นที่ก็หาของป่าเลี้ยงชีพไปตามมีตามเกิด ในขณะเดียวกันก็ต้องรับภาระเสียภาษีให้กับรัฐด้วย นอกจากนี้ยังประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนมีคำกล่าวที่ติดปากของชาวบ้านอิสานว่า ข้าวบาท บ้องขวาน” ซึ่งหมายความว่า ในยามที่ประสบปัญหาความอดอยากเนื่องจากการทำนาไม่ได้ผลนั้น ชาวบ้านต้องหาซื้อข้าวในราคาแพง คือใช้บ้องขวานตวงข้าวในอัตราส่วน ข้าว 1 บ้องต่อราคา 1 บาท ซึ่งได้ข้าวเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นเอง ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการในยุคนั้น ก็ยังไม่เปิดให้มีการเรียกร้องหรือร้องเรียนในเรื่องปัญหาต่างๆอย่างชัดเจน และในบางหมู่บ้านที่ปลูกพืชผักได้ก็จะหาบพริก หาบผัก หาบเกลือ เอาไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าว บางครั้งก็มีลูกเต้าติดสอยห้อยตามไปหาบข้าวด้วย บ้างไปขอข้าวที่หมู่บ้านนั้น หมู่บ้านนี้ด้วย อย่างยากลำบาก ส่วนรัฐสยามเองก็หาได้บำบัดทุกข์บำรุงสุขอย่างที่ควรเป็นไม่ ตรงกันข้ามกลับมุ่งพัฒนาประเทศให้เทียบเคียงอารยะธรรมตะวันตก มาโดยตลอด ที่เห็นได้ชัดเจนก็นับตั้งแต่ พ.ศ. 2398 ที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่ง (The Bowring Treaty) 
กล่าวโดยสรุป กบฎผู้มีบุญภาคอิสานนั้นถือว่าเป็นขบวนการกบฏของชาวนา และถือเป็นขบวนการลุกขึ้นสู้ของผู้ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างชัดเจน เพราะเป้าหมายหลักของกบฎผู้มีบุญภาคอิสานคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเดิมที่มีอยู่อย่างไม่เป็นธรรมไปสู่สังคมที่ดีกว่า และที่นำเสนอมาข้างต้นนี้ถือว่าเป็น กรณีศึกษาในขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อรัฐสยามในอดีตที่มีความเป็นมาอย่างน่าสนใจ และผู้เขียนหวังว่าบทความชิ้นนี้น่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนที่แตกขยายออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น และเป็นอีกด้านหนึ่งที่อยากให้รัฐไทยทบทวนการก่อสงครามกับประชาชนในนามของการพัฒนา ซึ่งหากเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสังคมที่เราอาศัยอยู่ แล้วเราจะกำหนดแนวทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไรเล่า เพราะประวัติศาตร์ของผู้ที่ชนะย่อมแตก

จากสนามบิน สนามม้า สนามฟุตบอล สู่ โรงพยาบาล

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของพื้นที่ที่กำลังสร้างโรงพยาบาล ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แห่งนี้ ในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ต่างๆ คือ
 สนามบินมหาสารคาม แห่งแรก เริ่มสร้างในก่อนปี พ.ศ.2465   มีเอกสารที่ค้นได้คือราชกิจจานุเบกษา  "คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม"
แจ้งความ ณ วันที่  24  มิ.ย. 2465  (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 39  หน้า  902 - 903  วันที่ 2 ก.ค. 2465 )   ว่าทางกระทรวงกลาโหมได้รับสนามบินเอาไว้ใช้ในราชการเรียบร้อยแล้ว
แต่สนามบินมหาสารคามแทบจะไม่มีการใช้งานเลย  ผมค้นหาดู ไม่พบว่าเคยมีไปรษณีย์อากาศ หรือ บ.เมล์ ไปลง  ซึ่งน่าจะเกิดจากจังหวัดมหาสารคามอยู่ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นที่ตั้งมณฑลเทศาภิบาล
คือมณฑลร้อยเอ็ด ซึ่งน่าจะใช้สนามบินประจำจังหวัดร้อยเอ็ด  หรือสนามบินรอบเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสนามบินหลักมากกว่า เพราะระยะทางระหว่างสนามบินทั้ง 2 จังหวัด  อยู่ห่างกันเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น

หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สนามบินมหาสารคามเก่า ก็ได้ถูกทิ้งให้รกร้าง เนื่องจากกองทัพอากาศได้สร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ตำบลแวงน่าง เพราะพื้นที่เก่าคับแคบ อยู่ในตัวเมือง   
มีการใช้พื้นที่สนามบินมหาสารคามเก่าทำเป็นสนามม้าอยู่ระยะเวลาหนึ่ง  จนถึงปี พ.ศ. 2515  ทางวิทยาลัยวิชาการมหาสารคาม  ซึ่งอยู่ฝั่งทิศใต้ของสนามบิน  (วิทยาลัย ฯ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2511)
ได้มีการขยายหลักสูตร และต้องการใช้พื้นที่เพิ่มในการสร้างอาคารเรียนของคณะต่างๆ  จึงขอใช้พื้นที่ฝั่งตรงข้ามวิทยาลัย คือพื้นที่สนามบินเก่าเป็นที่สร้างอาคาร ทางกองทัพอากาศจึงได้โอนพื้นที่
ราชพัสดุสนามบินเก่าทั้งสิ้น 197 ไร่ให้  ต่อมาวิทยาลัยฯ ได้ขยายหลักสูตร และยกขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์  วิทยาเขตมหาสารคาม  และเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปัจจุบัน
-                   พ.ศ. ๒๔๖๕ เปิดใช้สนามบินขนาดเล็ก ที่สนามบินหนองข่า (บริเวณสวนสาธารณะหนองข่าถึงพื้นที่ที่สร้างโรงพยาบาล)
-                   พ.ศ. ๒๕๐๐ มีสนามม้า ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่ถนนมหาสารคาม วาปีปทุม ในปีพ.ศ. ๒๕๑๔
-                   พ.ศ. ๒๕๑๑ ใช้เป็นสนามกีฬา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม
-                   พ.ศ.๒๕๑๗ ใช้เป็นสนามกีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม 
-                   พ.ศ. ๒๕๓๖ ใช้เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงสรีระพระอริยานุวัตร วัดมหาชัย
-                   พ.ศ. ๒๕๓๗ ใช้เป็นสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
-                   พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เรื่องราวที่มากมายในพื้นที่แห่งนี้ คงอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆคน ที่เคยไปดูเครื่องบิน ไปขี่ม้า ไปเล่นกีฬา แต่อีกไม่กี่วันพื้นที่ตรงนี้กำลังจะกลายเป็นโรงพยาบาล

พัฒนาการเมืองมหาสารคาม

ก่อนปีพุทธศักราช ๑,๑๐๐ ได้เริ่งปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในแถบนี้ เช่น ร่องรอยทางโบราณคดี ที่เขตทุ่งกุลา   คนทุ่งกุลาร้องไห้ในอดีต แตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ ในเรื่องการฝังศพที่มีการนำกระดูกคนตายใส่ลงไปในภาชนะดินเผาแล้วฝังอีกครั้งหนึ่งเรียกกันว่า การฝังศพครั้งที่ ๒ (Secondary Burial)
          นอกจากความพิเศษและความเป็นลักษณะเฉพาะในเรื่องประเพณีการฝังศพแล้ว ยังมีลักษณะของภาชนะดินเผาที่แตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่น คือ ภาชนะเนื้อดินสีนวลขาว และภาชนะดินเผาที่เรียกว่า แบบร้อยเอ็ด โดยการตกแต่งผิวด้านนอกด้วยลายเชือกทาบ จากนั้นทำให้เรียบ แล้วเขียนด้วยสีแดงทับ
          การประกอบพิธีกรรมการฝังศพในภาชนะดินเผา ( Burial Jar ) ลักษณะดังกล่าว นอกจากจะพบแพร่กระจายในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว ยังปรากฏในชุมชนโบราณทั้งในเอเชียภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ เช่น อินเดีย จีน ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และภาคพื้นหมู่เกาะ อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และแถบตะวันออกไกล เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ปัจจุบันยังสรุปไม่ได้ว่าประเพณีการฝังศพในลักษณะนี้เริ่มขึ้นเมื่อใด หรือแม้แต่การแลกรับวัฒนธรรมประเพณีเริ่มต้นที่กลุ่มชนใดในภูมิภาคนี้
          นอกจากภาชนะดินเผาแล้ว วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ยังปรากฏประเพณีการฝังศพที่มีการนำกระดูกคนตายใส่ลงไปในภาชนะดินเผา และฝังอีกครั้งหนึ่ง เรียกรูปแบบนี้ว่า ประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ แบบแผนการฝังศพจะปรากฏมากมายหลายรูปแบบ เช่น ภาชนะบรรจุกระดูกทรงไข่ ทรงกลม และทรงกระบอก       ซึ่งล้วนแล้วแต่จะมีฝาปิดเป็นทรงอ่าง ทรงชามขนาดใหญ่(คล้ายกระทะ) และฝาปิดเป็นแผ่นดินเผา ทรงกลม มีหูหรือด้ามจับ จะพบว่ามีการฝังรวมกันเป็นกลุ่ม ทั้งการวางภาชนะในแนวนอนและตั้งฉากกับพื้น สำหรับการฝังโดยวางภาชนะในแนวนอนนั้นจะพบการวางภาชนะเรียงต่อกันเป็นแถว(ส่วนปากภาชนะจะต่อกับส่วนก้นของภาชนะดินเผาอีกใบหนึ่ง) และแบบพิเศษที่นำภาชนะทรงกระบอกขนาดใหญ่ ๒ ใบ มีลักษณะส่วนปากประกบกันมองดูคล้ายกับ แคปซูล1
          ช่วงเวลาที่มีการแพร่กระจายของกลุ่มวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้อย่างหนาแน่นนั้น น่าจะจัดอยู่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีเป็นต้นมา จนกระทั่งปรากฏการรับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ๑๘ ซึ่งคนในเขตจังหวัดมหาสารคามในอดีต ก็อยู่ในโซนทุ่งกุลา จึงน่าจะมีวัฒนธรรมร่วมกันกับกลุ่มคนในอดีต
                นอกจากนี้วัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่ ๒ ยังพบได้ที่บ้านเชียงเหียน ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้มีการขุดค้นพบซากไหที่บรรจุโครงกระดูก  ในบริเวณบ้านเชียงเหียน ซึ่งคาดว่า อายุราว ๒,๐๐๐ ปี
                จากการขุดพบซากไห แคปซูล ในท้องที่ที่เป็นรอยต่อเขตเมืองมหาสารคาม หรือในเขตเมืองมหาสารคาม ล้านแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้าที่มีการตั้งเมือง โดยพระเจริญราชเดช (ท้าวกวด) พื้นที่เมืองมหาสารคามนี้ มีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนแล้ว จนกระทั้งได้รับวัฒนธรรมทวารวดี จากภาคกลางของไทย ทำให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อีสาน รวมทั้งที่มหาสารคามด้วย เริ่มพัฒนาบ้านเมืองของตัวเอง โดยมีการทำคูน้ำคันดินล้อมรอบ และมีการนับถือพระพุทธศานา เช่น ร่องรอยคูน้ำคันดินที่บ้านเชียงเหียน เมืองกันทรวิชัย และเมืองจำปาศรี เป็นต้น
                หลังปี พ.ศ. ๑,๕๐๐ เป็นต้นมา วัฒนธรรมทวารวดีเริ่มเสื่อมลงไป เนื่องจากการขยายอิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเขมร และได้แผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมเข้ามาผ่านความเชื่อ คือ มีการสร้างปราสาทหรือกู่ ที่เรียกว่า อโรคยาศาล หรือสถานที่ที่รักษาพยาบาล ตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งมีความเชื่อว่า ต้องช่วยคนเพื่อบำเพ็ญเพียรเป็นพระโพธิสัตว์และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอานาคต  รวมทั้งในช่วงนี้ยังมีการสร้างปราสาทหรือกู่ เพื่อถวายแก่เทพตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูด้วย จากหลังถานที่พบในจังหวัดมหาสารคามเช่น กู่บ้านเขาว กู่แก้ว กูสันตรัตน์ ศาลานางขาว เป็นต้น
                ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ได้มีสารตราจากทางราชสำนักกรุงเทพฯ มาถึงเมืองร้อยเอ็ด ให้สถาปนาบ้านกุดยางใหญ่ให้เป็นเมืองมหาสารคาม โดยมีท้าวกวดเป็นผู้นำไพร่พลมาตั้งเมืองมหาสารคาม แต่ก่อนหน้าที่จะตั้งเมืองมหาสารคามนั้น ดินแดนแถบนี้อยู่ในความดูแลของเมืองต่างๆ เช่น เมืองกาฬสินธุ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เป็นต้น ในช่วงนี้ บทบาทของราชสำนักกรุงเทพฯ ยังไม่มีมากนัก มีเพียงการเก็บส่วยเท่านั้น ซึ่งส่วยที่เจ้าเมืองมหาสารคามต้องส่ง คือ เร่ว หรือภาษาอีสานเรียกว่า หมากแหน่ง โดยจะคิดเป็น ๑ หาบ ต่อ ชายฉกรรจ์ ๑๒ คน (อ้างตามปี พ.ศ. ๒๓๙๓ งานเขียนของอาจารย์ธีรชัย บุญมาธรรม เรื่อง พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม ช่วงเจ้าเมืองเป็นคนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๔๐๘ ๒๔๕๕ ) และทางราชสำนักกรุงเทพฯก็จะให้ความคุ้มครองเมืองที่ส่งส่วยไม่ให้ถูกรุกราน
               

ในช่วง พ.ศ. ๒๔๐๔ ๒๔๕๕ นี้ กลุ่มคนที่ปกครองเมืองมหาสารคามจะเป็นเจ้าเมืองที่มาจากคนท้องถิ่น แต่เนื่องจากเจ้าเมืองมักจะเก็บส่วยจากประชาชนมากเกินที่กรุงเทพฯกำหนด เพื่อสะสมทรัยพ์ของตัวเอง หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งการปกครองแบบหม่ ที่เรียกว่า การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล และเปลี่ยนการปกครองเมืองมหาสารคามและเมืองต่างๆ ที่ปกครองแบบล้านช้าง คือ เปลี่ยน เจ้าเมือง เป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด , อุปฮาช เป็น ปลัดเมือง , ราชวงษ์ ยกกระบัตร เป็น, ราชบุตร เป็น ผู้ช่วยราชการจึงมีการส่งข้าหลวงเข้ามาปกครอง โดยข้าหลวงคนแรกที่เข้ามาปกครองเมืองมหาสารคาม คือ หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และหลังจากนั้นบทบาทของเจ้าเมืองท้องถิ่นก็ได้ลดลงไป
                                                               
1ธีรชัย บุญมาธรรม . พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม ช่วงเจ้าเมืองเป็นคนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๔๐๔ ๒๔๕๕ .           มหาสารคาม ; อภิชาติการพิมพ์ , ๒๕๕๔ .
ศิลปากร, กรม. รายงานเบื้องต้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีในทุ่งกุลาร้องไห้ (เล่ม ๑ ๒), พ.ศ.๒๕๔๔
ศิลปากร, กรม .นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรุงเทพมหานคร : 
บริษัท อทรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐.
สุจิตต์ วงษ์เทศ . มหาสารคามมาจากไหน . กรุงเทพ ; โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๕๓ .