หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ลงข่วงผีฟ้าในมหาสารคาม


ความหมายของคำว่า"ข่วง"มีผู้กล่าวถึงความหมายไว้หลายท่านหลายสำนวนคือ
1. พจนานุกรมภาษาถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความหมายไว้ เป็น 2 ความหมาย คือ"ข่วง" 1 น.ควง, บริเวณ สนาม ยกพื้น ่ปลูกบริเวณลานบ้าน เพื่อให้สาว ๆ นั่งปั่นไหม หรือ ฝ้ายในเวลากลางคืน ที่เรียกว่า ลงข่วง หรือ อยู่ข่วง"ข่วง" 2 น. เครื่องพักสัตว์ประเภทกระรอก กระแต หรือ หนู ก่วงก็เรียก"
2. อาจารย์ ดร.ปรีชา พิณทอง อธิบายไว้ในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ว่า "สถานที่สำหรับปั่นฝ้าย เรียกว่า ข่วง"
3. ศรายุธ ทองคำใส กล่าวสรุปในหน้า 3 ของเอกสารประกอบการสอน "ผญา" ว่า "ประเพณีลงข่วงเป็นลักษณะการทำงานของพวกสาว ๆ ชาวอีสาน คือในหน้าหนาว เมื่อสิ้นฤูดเก็บเกี่ยวแล้วจะชวนกันลงมา ปั่นฝ้ายที่ลานหน้าบ้านในเวลา กลางคืน มีการก่อกองไฟแก้หนาว และให้แสงสว่าง ช่วงนี้จะมีหนุ่ม ๆ แวะเวียนมา เกี้ยวเป็นกลุ่ม ๆ มีการเป่าแคนเดินนำหน้ามาเป็นกระบวน ฝ่ายชายจะเป็น ฝ่ายเริ่มพูดเกี้ยวก่อนฝ่ายหญิงจะตอบกลับไปด้วยความสนุกสนาน เป็นการทำความรู้จักมักคุ้น เมื่อพออกพอใจกันก็จะไปสู่ขอ ตามประเพณี..." ดังนั้น การลงข่วง จึงหมายถึง การรวมกลุ่มกันของคนหนุ่มสาวชาวท้องถิ่น อีสาน ในบริเวณลานบ้านที่มียกพื้นให้หญิงสาวนั่งทอเสื้อ ปั่นไหม ปั่นฝ้าย หรือทำงานหัตถกรรม ในเวลากลางคืนมีชายหนุ่มมาร่วมกิจกรรมลงข่วง เพื่อพูดคุยหยอกล้อตลอดจนเกี้ยวสาว ๆ ที่ตนชอบและพอใจการลงข่วงจึงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอีสานในการรวมกลุ่มพบปะสังสรรค์กันโดยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณ
ผีฟ้า คือคำเรียก เทวดา ของชาวไทยในภาคเหนือ และภาคอีสาน เป็นการบูชาแบบพื้นบ้านที่มีการนับถือผีกัน คนที่เป็นร่างทรงของผีฟ้าจะสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นในลูกๆ ที่เป็นผู้หญิง เมื่อมีคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านมักนำมาให้ผีฟ้าเสี่ยงทาย และช่วยรักษา เมื่อรักษาใครหายแล้วก็จะเป็นลูกหลานหรือบริวารของผีฟ้าที่ชาวอีสานเรียนว่า ลูกเผิ้งลูกเทียน ผีฟ้าจึงเป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์ และการทรงเจ้าเข้าผีของสังคมดั้งเดิมของคนไทย
ผีฟ้าที่บ้านยาง ตำบลยางสีสุราช อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานลงข่วงผีฟ้าขึ้น นำโดยคุณยายอินตา ผู้เป็นผีฟ้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และเหล่าลูกเผิ้งลูกเทียนของคุณยายอินตา ซึ่งเคยรักษาโรคให้หายก็จะมายกครูและบูชาครูด้วย
การประกอบพิธีกรรมจะมีการเป่าแคนฟ้อนรำทั้งคืน เพื่อให้ผีฟ้ามาปัดเป่าโรคร้ายหรือสิ่งไม่ดีออกไปจากผู้ที่ฟ้อนรำ
เมื่อพิจารณาทางวิทยาศาสตร์ก็น่าจะสันนิฐานได้ว่าเป็นการรักษาทางจิตวิทยา โดยการใช้อุปทานหมู่เพื่อให้ผู้คนที่ร่วมพิธีกรรมได้ฟ้อนรำ เมื่อมีการฟ้อนรำเลือดลมในร่างการก็ไหลเวียนเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย ร่างกายก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีโรค

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พุทธมลฑลอีสานซ้ำซ้อน


“พุทธมลฑอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักสิลานคร” เป็นคำขวัญของจังหวัดมหาสารคามที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเฉพาะพุทธมลฑลที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอารยธรรมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี  เพราะบริวณนี้เป็นเมืองจำปาศรี และที่สำคัญยิ่งคือการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบสำริดรูปหม้อน้ำตามแบบทวารวดี หรือที่เรียกว่า หม้อปูรณคตะ  ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 -15 รัฐบาลในสมัยของพลเอกเปรม ตินสูลานนท์ จึงอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นในเอที่ 902 ไร่ นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า พระธาตุนาดูน นอกจากจะตั้งอยู่ใจกลางภาคอีสานแล้ว ในด้านประวัติศาสตร์ยังเป็นแหล่งศูนย์กลวงของพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การเมือง การปกครอง จึงได้มีมติให้พระธาตุนาดูนเป็นพุทธมณฑลอีสานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา
ในส่วนการตอบสนองนโยบายรัฐบาลของจังหวัดขอนแก่น ที่จะมีการสร้างพุทธมณฑลอีสานจังหวัดขอนแก่นขึ้น โดยได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน พุทธมณฑลดังกล่าวตั้งอยู่ที่ หนองอิเลิง ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนนวนทั้งสิ้น 108,500,000 บาท การดำเนินการก่อสร้างมี 4 กิจกรรม คือ งานขุดลอกถมดิน พื้นที่ 130 ไร่ , การก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการ ความยาว 420 เมตร , งานก่อสร้างอาคารประดิษฐานองค์พระ  ขนาดพื้นที่ 2,200 ตารางเมตร , งานก่อสร้างองค์พระพุทธศากยมุนีศิริมงคลความสูงจากพระบาทถึงยอดเกตุ 18 เมตร
ถึงแม้เมืองขอนแก่นจะเป็นจังหวัดที่ใหญ่ สถานที่สร้างพุทธมณฑลกลับมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์น้อยกว่าจังหวัดมหาสารคาม แต่การที่จังหวัดมหาสารคามที่มีพระธาตุนาดูนและเป็นแหล่งอารยธรรมเดิมอยู่แล้วก็ควรจะสืบสานตามคำขวัญของจังหวัดและเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน ที่เรียกว่าพุทธมณฑลแห่งอีสาน ซึ่งอาจทำให้คนทั่วไปสับสนได้ว่าจริงๆแล้วพุทธมณฑลอีสานอยู่ที่ไหนแน่ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าการสร้างพุทธมณฑลอีสานที่มหาสารคามจะมีความเหมาะสมมากกว่าจังหวัดขอนแก่น
การเลือกจังหวัด 10 แห่งของรัฐบาลในการจัดสร้างพุทธมณฑล สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของรัฐบาลที่เลือกจังหวัดจัดสร้างพุทธมณฑล ว่าเป็นการเลือกจากระบบฐานเศรษฐกิจโดยยึดถึงจังหวัดใหญ่ มีการค้าขายมั่งคั่ง โดยไม่ได้มองถึงภูมิหลังของจังหวัดนั้นว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดยมุ่นเน้นไปที่การท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยไม่ได้มุ่งเน้นถึงประวัติความเป็นมา อาจเรียกว่าละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

บุญเดือนสามบางเรื่องในมหาสารคาม


ชาวอีสานและชาวจังหวัดมหาสารคามมีขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาช้านาน แต่มีข้อแตกต่างปลีกย่อยออกไปบ้างตามพื้นที่ สภาพทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ ซึ่อเรียกว่า ฮีตสิบสองฮีตสิบสองมาจากคำ 2 คำ คือ ฮีต กับ สิบสองฮีตมาจากคำว่า จารีต หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงามชาวอีสาน เรียกว่า จาฮีต หรือฮีต สิบสอง หมายถึง เดือนทั้ง 12 เดือนในหนึ่งปีฮีตสิบสอง จึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปีประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมานั้นล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชน ได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กันเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสมานสามัคคีมีความรักใคร่กัน ของคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน ประเพณีอีสานส่วนใหญ่จะมีเอกลักษณ์แตกต่างจากประเพณีภาคอื่นๆ (อาจคล้ายคลึงกับประเพณีของทางภาคเหนือบ้างเพราะมีที่มาค่อนข้างใกล้ชิดกัน)ประเพณีอีสานได้รับอิทธิพลมา จากวัฒนธรรมล้านช้าง(แถบหลวงพระบางประเทศลาว)จึงจะเห็นได้ว่าประเพณีของชาวอีสานและชาวลาวมีความคล้ายกันเพราะมีที่มาเดียวกันและชาวอีสานและชาวลาวก็ไปมาหาสู่กนเป็นประจำเยี่ยงญาติพี่น้องทำให้มีการถ่ายเทวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย
ส่วนในบุญเดือนยี่ เดือนสาม ชาวอีสานจะทำบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่า บุญกุ้มข้าวใหญ่ มีลักษณะที่คล้ายบุญคูณลานในเดือนสอง การจัดทำประเพณีนี้ไม่ค่อยมีการนิยมมากนัก อาจมีอยู่บ้างเล็กน้อยเช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ ที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ , บุญกุ้มข้าวใหญ่ อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น แต่ระดับหมู่บ้านก็มีบ้างเล็กน้อยอาจไม่ได้กล่าวถึง
จากการลงพื้นที่ศึกษาการประกอบพิธีกรรมบุญกุ้มข้าวใหญ่ของบ้านหนองบัวแปะ ตำบลขามเรียนอำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม พบว่า
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง ตามตำนานเล่าว่า ครั้งพุทธกาลสมัยพระกัสสปะ มีชายสองพี่น้องทำนาในที่เดียวกันพอข้าวออกรวง เป็นน้ำนม น้องชายได้ชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ แต่พี่ชายไม่เห็นชอบด้วยสองพี่น้องจึงแบ่ง นากันคนละส่วน เมื่อน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาที่แบ่งกันแล้ว จึงถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ตามความพอใจ โดยทำบุญเป็นระยะถึง ๙ ครั้ง นับแต่ข้าวเป็นน้ำนมก็ทำข้าวมธุปายาสถวายครั้งหนึ่ง เวลาข้าวพอเม่าก็ทำ ข้าวเม่าถวายครั้งหนึ่ง เวลาจะลงมือเก็บเกี่ยวข้าวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลามัดข้าวทำเป็นฟ่อนก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาขนข้าวเข้าลานก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาทาลอม(กองข้าว) เสร็จก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลานวด ข้าวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาตวงข้าวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง และเวลาเก็บข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่ง แต่ตั้งปณิธานปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต พอถึงพุทธศาสนาพระสมณโคดมจึงได้เกิด เป็นโกณฑัญญะ ได้ออกบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์เป็นปฐมสาวกได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ ส่วน พี่ชายได้ทำบุญเพียงครั้งเดียวเฉพาะตอนทำนาเสร็จแล้ว เมื่อถึงศาสนาพระสมณโคดม ได้เกิดเป็น
สุภัทปริพาชก ได้สำเร็จอนาคามิผลเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้ายในพระพุทธศาสนา เนื่องจากอานิสงส์จาก ให้ข้าวเป็นทานน้อยกว่าน้องชาย ชาวอีสานเมื่อทราบอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าว จึงได้นิยมทำที่เกี่ยวกับข้าวตลอดทั้งปี รวมทั้งบุญกุ้มข้าวต่อ ๆ มา จนปัจจุบัน
ช่วงระยะเวลา กำหนด 2 วัน ไม่นับวันเตรียมการ คือวันที่ 28 – 29 มกราคม 2555  คือ ชาวบ้านจะมาประชุมเพื่อแบ่งหน้าที่ในการทำงาน และก่อนวันงานจะมีการนำข้าวของบ้านแต่ละหลังมารวมกัน พร้อมโยงสายสิญจ์จากยุ้งฉางมายังลานพิธี ห่อข้าวต้มมัด จัดเตรียมอาหาร  ส่วนวันที่ 28 ในตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 9.39 น. จะเป็นพิธีทางพราหมณ์ โดยจะมีการสู่ขวัญข้าวเช่นเดียวกับบุญคูณลาน มีเครื่องบวงสรวงพระแม่โภสพ ได้แก่  เครื่องฮ้อย คือ นำหมากพลูมาร้อยเป็นสายให้ได้หนึ่งร้อย เครื่องพัน คือ นำพลู บุหรี่มาพันแล้วร้อยให้ได้หนึ่งร้อย ไก่ต้มบ้านหละ 1 ตัว ผักผลไม้ต่างๆ วางบนมณฑลพิธีที่ประดับไปด้วยตุงยาวทั้งสี่ด้านและกล้วยอ้อยที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เมื่อเสร็จพิธีมีการฟ้อนรำ เป่าแคนอย่างสนุกสนาน เป็นเสร็จพิธีในช่วงเช้า เมื่อถึงเวลาเพลก็นิมนต์พระสงห์เข้ามาฉันอาหารที่ลานพิธีอีก เมื่อเวลาประมาณ บ่าย 3 โมง ก็จะมีการแห่ข้าว ผักผลไม้ไปตามทางที่ได้กำหนดไว้ โยมีกลองยาวให้ความสนุกสนาน ตอนกลางคืนมีมหรสพสมโภชตามสมควร รุ่งเช้าของวันที่ 29 นิมนต์พระสงฆ์มาฉันอาการ ณ มณฑลพิธีอีกครั้งหนึ่งเป็นเสร็จพิธี หลังจากนั้นข้าวที่นำมารวมกันก็จะนำไปขายเพื่อเอาเงินมาเข้ากองทุนของหมู่บ้าน
สถานที่ประกอบพิธี ใช้ศาลากลางบ้านเป็นที่ประกอบพิธีกรรม
ผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ฝ่ายสงฆ์ พระสงฆ์วัดหนองบัวแปะทุกรูป , ฝ่ายฆราวาส คนในชุมชนหนองบัวแปะทุกคน
ผลที่ได้รับจากการประกอบพิธี  เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณี
บทวิเคราะห์
การทำบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชาวบ้านหนองบัวแปะ ตำบลขามเรียน อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ยังมีความเป็นพื้นบ้านอยู่ คือ ชาวบ้านจัดการ ดำเนินการเองรัฐงไม่ได้มีส่วนไปเกี่ยวข้อง ผู้เข้าร่วมก็ยังเป็นชาวบ้านและสามารถเข้าร่วมได้ทุกคน ไม่มีการบังคบว่าใครต้องเข้าร่วมเหมือนส่วนราชการจัดขึ้น เป็นการประกอบพิธีแบบเดิมที่สืบปฏิบัติมา



วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

เล่าเรื่องเมืองมหาสารคาม จากภาพของ Charles Keyes

ศาสตราจารย์ Charles Keyes เป็นนักมนุษยวิทยา ประจำภาควิชามานุษยวิทยา (Department of Anthropology) ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสนใจในด้านมนุษยวิทยาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทยและเวียดนาม โดยได้เข้ามาเก็บข้อมูลที่มหาสารคาม โดยเฉพาะบ้านหนองตื่นและเมืองมหาสารคาม ในช่วงปี พ.ศ. 2507 (จากหลักฐานทางภาพถ่าย) พร้อมทั้งได้ถ่ายภาพบรรยากาศชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคามในช่วงนั้นไว้ ซึ่งสะท้องให้เห็นวิถีชีวิตของคนอีสานและคนมหาสารคามได้เป็นอย่างดี งานสำรวจภาคสนามของเขาได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ “สังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” เป็นภาษาอังกฤษ
เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายของ Charles Keyes อาจสรุปว่าสภาพทั้วไปของเมืองมหาสารคามและชุมชนรอบเมืองมหาสารคามเป็นดังนี้
1.                           ทางด้านวัฒนธรรม ชาวมหาสารคามมีความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน คือยังมีการเชื่อ นับถือและประกอบพิธีกรรม เกี่ยวกับพุทธ พราหมณ์และผี ไปพร้อมๆกัน ภาพที่เกี่ยวข้องเช่น ภาพคายขันห้า ซึ่งใช้ถ้วยใส่น้ำ และมีก้านมะพร้าวคาดบนบากถ้วย และถ้วยนั้นตั้งอยู่บนถาดสังกะสี รอบๆถาดจะมีฝ้ายที่ผ่านกระบวนการทำเป็นเส้น และที่ยังเป็นดอกอยู่ โดยจะกองเป็นสี่ทิศ ซึ่งใช้ในการตั้งมุงคุน(มงคล)เรือน โยจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันอาหารที่บ้านและสวดเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งภาพนี้สามารถสะท้อนถึงการนำเอาความเชื่อทางด้านพราหมณ์และผี ผนวกเข้ากับพุทธได้เป็นอย่างดี , ความเชื่อในการอยู่กรรมของผู้หญิงหลังคลอดลูก โดยจะมีการนำฝ้ายมาผูก แขนและขาทั้งสองข้าง พร้อมทั้งคาดบ่า โดยมีความเชื่อว่าป้องกันภูตผีที่ได้กลิ่นคาวเลือดจะมาทำร้ายหรือเอาชีวิต , ความเชื่อในด้านโชคชะตา โดยมีการดูดวงโดยใช้ผืนผ้า เรียกว่า “หมอมอผืนผ้า” , การสะเดาะเคราะห์ โดยมีการทำกระทงกาบกล้วยทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ขาวเหนียวดำ ข้าวเหนียวแดง ปลาร้า และขนมจีน แล้วจะมีการทำพิธีก่อนที่จะนำไปไว้ที่ใดที่หนึ่งตามที่พ่อหมอหรือคนทำพิธีบอก , ทางด้านพระพุทธศาสนา มีภาพที่แสดงถึงการทำพิธีกรรม คือ บุญผเวส ซื่งเชื่อว่าหากใครได้ฟังเทศในบุญนี้(เทศมหาชาติ) จะได้อานิสงส์มาก , มีการเชิญพระอุปคุตมารักษาความเรียบร้อยของงาน ไม่ให้มีมารมาผจญและงานนั้นๆเสร็จได้อย่างเรียบร้อย , ความเชื่อในความเคารพบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไป ชาวมหาสารคามจะมีการ “ปั้นธาตุ” ก่อธาตุเพื่อเก็บกระดูกของบรรพบุรุษไว้กราบไหว้ , การนำศพไปป่าช้า ซึ่งสมัยนั้นไม่มีโลงศพจะต้องใช้สาด(เสื่อ)พันไป การล้างหน้าศพก็ต้องนำน้ำใส้กระบอกไม้ไผ่ไป
2.                           ด้านเกษตรกรรม ภาพที่ Charles Keyes ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ช่วงนั้น มีการปลูกข้าว (นาดำ) สังเกตจากตอฟางข้าวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบ หลังจากการเก็บเกี่ยวจะมีการปลูกพืชสวนครัวต่างๆ เช่นแตง ต้นหอมในพื้นที่นา แต่ไม่ได้ปลูกมากเพราะปลูกไว้เฉพาะกินในครัวเรือนเท่านั้น และยังมีการหาอาหารทางธรรมชาติ กบ เขียด ในที่นาด้วย รวมทั้งมีการปลูกปอขายด้วย
3.                           อาชีพเสริม เห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงนี้ชาวบ้านมีการทำอาชีพเสริม เช่น การเล่นมายากล การปั้นหม้อขาย การแสดงละครลิง การนำสินค้าใหม่ๆ เช่นผงซักผ้า ยาต่างๆ รวมทั้งเริ่มมีการใช้จักรเย็บผ้าใช้กันแล้ว การแสดงหมอลำหมู่ ในเมืองมหาสารคามมีการปั่นสามล้อรับจ้าง และการตีมีด
4.                           พาหนพที่ใช้ ในช่วงนี้ยังมีการใช้เกวียนกันอยู่ ในเมืองมหาสารคามนั้นเริ่มมีรถโดยสาร “รถสองแถว” และรถจักรยานยนต์บ้าง แต่ไม่มากนัก ที่มากที่สุดก็คือจักรยาน
5.                           การบริการของรัฐ เมื่อมองจากภาพในช่วงนี้การบริการของรัฐยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองเป็นหลัก โยสังเกตจากถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ถนนและไฟฟ้าเป็นต้น ซึ่งถนนในเมืองมีคอนกรีตอย่างดี แต่ในหมู่บ้านเป็นแค่ทางเท้าเท่านั้น
6.                           การรับวัฒนธรรมจากภายนอก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการแต่งกาย ในช่วงนี้การแต่งกายทั้งชายและหญิงเริ่มมีการสวมเสื้อเชิตและกางเกงมาก แต่ก็ยังมีการทอผ้า การใช้ผ้าพื้นเมืองอยู่ มีโรงสีข้าวแทนการตำข้าว
อาจสรุปได้ว่าในช่วงนี้ชาวอีสานเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงคือเริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ(ปอ) มีอาชีพเสริม สินค้าจากภายนอกเริ่มหลั่งไหลเข้าชุมชน จากการที่มีรถไฟมาถึงบ้านไผ่ในปี พ.ศ. 2475 ในด้านวัฒนธรรมของคนอีสานยังประกอบพิธีกรรมเหมือนเดิม แต่ชาวบ้านก็ยังมีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนในเมืองเริ่มพัฒนาการเป็นเมืองมากขึ้น เช่นมาการสร้างตึกด้วยซีเมนต์ แทนตึกติน แต่ตึกดินก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในช่วงนี้
ดูภาพประกอบได้ที่นี่

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

คนจีนในมหาสารคาม พ.ศ. 2470 – 2503


จากการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในจังหวัดมหาสารคาม ที่มีหลักฐานว่าตั้งก่อน ปี พ.ศ. 2475 แสดงให้เห็นว่าชาวจีนที่อพยพมาครั้งแรกน่าจะมาทางลาวและเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ เพราะโอกาสที่จะมาจากกรุงเทพฯมีน้อย เพราะทางรถไฟสายอีสาน สร้างถึงสถานีบ้านไผ่ ในปี พ.ศ. 2475 จึงเป็นไปไม่ได้ว่าชาวจีนในมหาสารคามอพยพมาจากทางภาคกลางของไทยทั้งหมด แต่ได้มาการเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว
การอพยพของชาวจีนในยุคแรก
เมื่อชาวจีนเข้ามายังเมืองมหาสารคามในยุคแรกนี้ ส่วนมากจะเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาจากประเทศจีน ชาวจีนเหล่านี้ยังคงมีความผูกพันกับประเทศจีนของตนอยู่ ซึ่งจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันเฉพาะในหมู่ของชาวจีน ชาวจีนที่เข้ามาก่อนหน้านี้จะช่วยเหลือชาวจีนที่เข้ามาอยู่ใหม่
 โดยส่วนมากจะเป็นคนจากหมู่บ้านเดียวกันเมื่อครั้งอยู่เมืองจีน อย่างที่จีนกาสี คหบดีจีนในร้อยเอ็ดช่วยเหลือจีนที่เข้ามาอยู่ใหม่โดยฝึกด้านการค้า สอนภาษาอีสานให้ เมื่อชายจีนใหม่คนนั้นสามารถจะแยกตัวได้แล้วก็สนับสนุนให้ไปเปิดร้านค้าของตนเอง โดยเป็นผู้ให้สินค้านำไปจำหน่ายก่อน ส่งเงินคืนทีหลัง เมื่อคนนั้นสมควรมีครอบครัว ก็เป็นผู้ใหญ่สู่ขอผู้หญิงที่เหมาะสมให้ เป็นต้น นี่คือการดูแล ช่วยเหลือชาวจีนที่เข้ามาอยู่ใหม่ โดยเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน จากการดูแลกันในกลุ่มชาวจีนนี้ ทำให้ชุมชนจีนมีความเหนียวแน่นและเป็นสิ่งดึงดูดให้ชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่รัฐบาลยังไม่กีดกันการเข้ามาของชาวจีน
การสร้างศาลเจ้า
จากการเกิดชุมชนจีนนำไปสู่การสร้างสิ่งเคารพบูชาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจขึ้น และจากการ
เก็บข้อมูล จะได้ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ ถ้าชุมชนจีนที่ใดเข้มแข็งและมีคนจีนอยู่เป็นจำนวน
มาก สิ่งเคารพสักการะของชาวจีนโดยเฉพาะเทพเจ้าประจำท้องถิ่นในประเทศจีน อย่างปุนเถ่ากง-ม่า  จะ
นำมาจากประเทศจีน แต่ถ้าที่ใดคนจีนมีอยู่ไม่มาก สิ่งสักการะบูชาอย่างปุนเถ่ากง-ม่าที่คนจีนนับถือมา
ตลอดจะมาจากผีในท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนท้องถิ่นที่ให้ความเคารพ
อย่างในอำเภอเมืองร้อยเอ็ดและอำเภอเมืองมหาสารคามมีคนจีนอยู่มากกว่าในอำเภอรอบนอก
ในอำเภอเมืองมหาสารคาม มีศาลเจ้าก่อนปี พ.ศ.2470 เป็นลักษณะเหมือนกำแพงดินหลักเล็กๆ
เมื่ออำเภอรอบนอก (หมายถึง อำเภออื่นๆที่ไม่ใช่อำเภอเมือง) เติบโตจากการอพยพเข้าไปอยู่ของ
คนจีน เพราะต้องการเข้าถึงสินค้าท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงของป่า ได้แก่ครั่ง เร่ว หนังสัตว์ เขาสัตว์ ข้าวเปลือก
ฯลฯ จากคนท้องถิ่น และสันนิษฐานว่าคนจีนเข้าสู่อำเภอรอบนอกไม่มากนัก จึงไม่สามารถรวมกลุ่มเพื่อ
อัญเชิญเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่าจากประเทศจีน และสร้างศาลเจ้าเฉพาะของคนจีนขึ้นมาได้ และเท่าที่สังเกต
และสัมภาษณ์คนจีนได้ความว่าเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่าที่คนจีนในอำเภอรอบนอกเคารพบูชาล้วนเป็นผีใน
ท้องถิ่นอีสานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผีปู่ตา หรือหลักเมือง
วิทยาการจากประเทศจีน
นอกจากเรื่องความเชื่อแล้ว เมื่อคนจีนเข้ามาในร้อยเอ็ดและมหาสารคาม คนจีนเหล่านี้ยังนำ
วิทยาการที่ตนเคยปฎิบัติเมื่อครั้งอยู่ในประเทศจีนเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตใหม่ในแผ่นดินไทยด้วย เช่นการ
ปลูกผักยกร่องสวน การนำผักจากประเทศจีนมาปลูก เช่นผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ การใช้ปุ๋ยคอกในนา คนจีนกับการเข้ากับท้องถิ่น
- การพึ่งพาอาศัยกันของคนจีนและคนท้องถิ่น
เมื่อคนจีนเหล่านี้อพยพเข้ามา อาชีพในระยะเริ่มแรกคือการค้า โดยชาวจีนเหล่านี้จะนำสินค้าจาก
ในเมือง ได้แก่สบู่ ผ้าสี ด้าย เข็มเย็บผ้า น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ กระดานชนวน ดินสอหิน ไต้จุดไฟ เครื่องสังฆ
ภัณฑ์ ปลาทูเค็ม ผักดอง ผลไม้เค็ม จอบเสียม เป็นต้น นำไปแลกเปลี่ยนของป่ากับคนท้องถิ่นเพื่อนำส่ง
ขายต่อยังเมืองใหญ่ เช่นกรุเทพ นครราชสีมา บ้านไผ่ เป็นต้น จุดนี้ทำให้คนทั้ง 2 กลุ่มเริ่มรู้จักและคุ้นเคย
กัน และจากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ชาวจีนได้เล่าว่าในรุ่นพ่อแม่ของเขารู้จักสนิทสนมกับคนท้องถิ่น
มาก เพราะติดต่อค้าขายกันเป็นประจำ และเคยช่วยเหลือกันด้วย กล่าวคือ เมื่อคนท้องถิ่นเดือดร้อนจาก
การทำนา อันเนื่องมาจากฝนแล้ง หรือน้ำท่วมจะมีการยืมข้าวจากพ่อค้าจีนที่คุ้นเคยกัน ไปปลูกหรือไป
รับประทานก่อน และจะคืนข้าวเท่ากับจำนวนที่ยืม เมื่อสามารถปลูกข้าวในครั้งต่อไปได้
- การสานสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับผู้ปกครองในท้องถิ่น
คนจีนที่เข้ามาใน มหาสารคามบางคนเข้ามาเพราะถูกชักชวนจากเจ้าเมืองให้มาประกอบ
การค้าในอำเภอนั้น เช่นอำเภอวาปีปทุม ในขณะที่คนจีนส่วนมากอพยพมาจากประเทศจีนเพื่อหนีความอด
อยาก ทำให้ชาวจีนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนสามารถดำรงชีวิตอยู่รอด และปลอดภัยในดินแดนใหม่ที่ตน
เข้ามาทำมาหากิน การสานสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหมายถึงความปลอดภัย
ความก้าวหน้า และสิทธิพิเศษอื่นๆของตนและกลุ่มด้วย
การสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ปกครองของคนจีนมีหลายลักษณะ ได้แก่การแต่งงาน เช่นในจังหวัด
มหาสารคาม คหบดีจีนจากเมืองวาปีปทุม คือนายทองดี อัตถากร แต่งงานกับญาแม่แก้วประภา ภวภูตา
นนท์ ณ มหาสารคาม ซึ่งเป็นธิดาของพระเจริญราชเดช (อุ่น) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 312 จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง และได้รับการสนับสนุนจากเจ้าเมืองให้เป็นผู้ผูกขาดต้มเหล้า หรือกรณีจีนกาสี แซ่เซีย ได้บริจาคข้าว 1 เล้าแก่ทางการ จึงได้ปูนบำเน็จเป็นหลวงนุกูลกิจคดีจีน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลคนจีนในร้อยเอ็ดด้วยคนจีนในยุคนี้เป็นรุ่นจีนอพยพและเป็นรุ่นบุกเบิกทางการค้าและความสัมพันธ์กับท้องถิ่นรวมทั้งผู้ปกครองด้วย และสิ่งที่คนจีนในรุ่นนี้วางรากฐานไว้ ทำให้คนจีนในรุ่นต่อมาสามารถต่อยอดสร้างทุน สร้างฐานะที่มั่นคง และทำให้เมืองเติบโตในเวลาต่อมา
คนจีนอีสานกับชนบท สร้างทุนในการตั้งเมือง พ.ศ.2470-2503
2.1 การเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อธุรกิจค้าข้าวเปลือกขยายตัวมากขึ้น นำไปสู่การตั้งโรงสีข้าวของคนจีนขึ้นเอง พร้อมกับการ
ขยายเส้นทางรถไฟมาถึงขอนแก่น ในปี พ.ศ.2476 การสร้างถนนเชื่อมระหว่างอำเภอและจังหวัดเพื่อความ
สะดวกในการเดินทาง ทำให้ชาวจีนอพยพย้ายเข้าสู่อำเภอรอบนอกเพื่อสะดวกต่อการรับซื้อของป่ากับคน
ท้องถิ่น และย้ายออกในกรณีที่การค้าเบ็ดเตล็ดในอำเภอรอบนอกซบเซา เพราะคนท้องถิ่นนิยมมาซื้อสินค้า
ในเมืองแทน เช่นในปี พ.ศ.2479 มีรถประจำทางวิ่งระหว่างร้อยเอ็ด-กรุงเทพ, ร้อยเอ็ด-บ้านไผ่,ร้อยเอ็ด-
อุบล, ร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ, ร้อยเอ็ด-วาปีปทุม เป็นต้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธุรกิจค้าข้าวเปลือกซบเซา คนจีนเหล่านี้บางคนหันไปค้าของป่าชนิดอื่น
เช่นฝ้าย ปอ จนบางคนสามารถสะสมเงินทุนจากการค้าสินค้าเหล่านี้ได้ เช่นนายสงวน ศิริเกษมทรัพย์ ได้
เล่าว่าในอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีการซื้อขายปอกันมากตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 จนบางปีปอขาด
ตลาด พ่อค้าที่มีสินค้าก็สามารถขายปอได้ในราคาสูงถึงกก.ละ 1 บาท ในขณะที่ซื้อปอมา กก.ละ 5- 10
สตางค์ จึงทำให้พ่อค้าบางคนมีฐานะร่ำรวยจากการขายปอในปีนั้น อย่างประมาณปี พ.ศ.2501 บางคน
ร่ำรวย ได้เงินหลายแสนบาท ซึ่งสมัยนั้นนับว่ามาก เพราะความเฮง เนื่องจากช่วงนั้นราคาปอตกมาตลอด
พ่อค้าบางคนไม่กล้าเก็บปอไว้ในโกดังนาน จึงปล่อยขาดในขณะที่ราคาต่ำ แต่บางคนก็ไม่ขาย เมื่อมีคนขาย
ให้ในราคาต่ำมากๆก็ซื้อเก็บเอาไว้ ไม่มีใครรู้ว่าราคาจะขึ้นเมื่อไร พอปีต่อมา ราคาปอขึ้น และขึ้นอย่างเร็ว
เนื่องจากคนปลูกปอน้อยลง แต่ตลาดปีนั้นต้องการปอมาก พ่อค้าที่เก็บปอไว้มาก ก็ร่ำรวยภายในพริบตา
ชาวจีนประกอบธุรกิจการค้า สิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือการขยายกิจการ โดยจะขยายกิจการตาม
ขนาดของครอบครัว ถ้าครอบครัวไหนมีลูกหลานมากก็ขยายกิจการมาก ถ้าลูกหลานน้อยก็ขยายเล็กน้อย
โดยการนำผลกำไรจากการค้ามาขยายกิจการ บางรายใช้แหล่งทุนข้างนอกมาขยายกิจการ กล่าวคือก่อนที่
จะมีธนาคารในอำเภอ การขยายกิจการโดยใช้ทุนข้างนอกจะมาจากการเล่นแชร์ และหวยของกลุ่มพ่อค้าจีน
ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของคนจีนในสมัยนั้น อันนำไปสู่การขยายตัวของเมือง
2.2 การดำรงความเป็นจีน
จีนอีสาน เป็นชาวจีนรุ่นที่ 2 หรือลูกชาวจีนอพยพ ชาวจีนรุ่นนี้เกิดในเมืองไทยแต่ยังคงอยู่ในชุมชน
จีนจึงทำให้ยังคงผูกพันกับความเป็นจีนอยู่ ประกอบกับกฎหมายเรื่องสัญชาติ ที่ทั้งกฎหมายไทยและ
กฎหมายจีนต่างต้องการให้ลูกจีนสังกัดสัญชาติของตน เช่นพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับของรัฐบาลชิง ในปี พ.ศ.
2452 และ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 ที่ออกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้ลูก
จีนกลายเป็นบุคคล 2 สัญชาติ และต้องจงรักภักดีต่อทั้งสองแผ่นดิน ในขณะที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นจีน
โดยการให้เรียนหนังสือจีน และรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนผ่านโรงเรียนจีน บางคนถูกส่งให้ไปเรียน
หนังสือจีนที่ประเทศจีน โดยไปอาศัยอยู่กับญาติที่นั่น ยิ่งทำให้ลูกจีนมีความผูกพันกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น
จนนำมาสู่การเกิดความรู้สึกชาตินิยม เมื่อจีนอีสานเห็นประเทศจีนได้รับความเดือดร้อน เช่นกรณีญี่ปุ่นบุก
จีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นขึ้น หรือกรณีความขัดแย้ง
ภายในประเทศจีนระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ได้ส่งผลให้ชาวจีนเกิดการ
แตกแยกกันตามกระแสการเมืองจีนด้วย ตัวอย่างในจังหวัดร้อยเอ็ดแบ่งเป็น 2 กลุ่มการเมือง คือกลุ่มฮั่ว
เคียวกงส้อ เป็นกลุ่มก๊กมินตั๋ง หรือกลุ่มนิยมนายพลเจียงไคเช็ค ซึ่งส่วนมากจะเป็นจีนสูงอายุหรือจีนเก่าใน
ร้อยเอ็ด กับกลุ่มฮั่วเคียวกงหวย เป็นกลุ่มนิยมเหมาเจ๋อตุง หรือกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ พวกนี้จะเป็นพวกจีน
ใหม่ที่ย้ายมาจากกรุงเทพ แต่ในร้อยเอ็ดทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่เคยทะเลาะวิวาทกัน ต่างกลุ่มต่างทำกิจกรรมของ
ตน และแต่ละกลุ่มจะรู้ว่าใครอยู่กลุ่มไหนซึ่งจะไม่ติดต่อสัมพันธ์กันการดำรงความเป็นจีนอีกประการหนึ่งคือการกล้าแสดงอัตลักษณ์ความเป็นจีนเป็นครั้งแรก โดย
การจัดประเพณีงานงิ้วเพื่อสักการะบูชาเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่า ในอำเภอเมืองจังหวัดมหาสารคามจัดประเพณีงานงิ้วเป็นครั้งแรก เมื่อ
ปี พ.ศ.2500 ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอำเภอที่ชาวจีนอยู่ และความรู้สึกถึงความ
เป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นจึงกล้าแสดงอัตลักษณ์ของจีนออกมาก็ได้
2.3 ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งในท้องถิ่นของจีนอีสาน
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงกล่าวคือเปิดโอกาสให้
ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านและเมืองมากขึ้น โดยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บริหารงาน
ในระดับชาติ และการเป็นสมาชิกสภาเทศบาล บริหารงานในระดับท้องถิ่น ซึ่ง
รัฐบาลให้สามัญชนมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและในการเป็นผู้แทนของราษฎร ปรากฏว่าลูกจีนตื่นตัว
ในการเข้าร่วมบริหารบ้านและเมืองในครั้งนี้มาก แต่กฎหมายไม่ได้เปิดทางให้ โดยระบุไว้ใน พ.ร.บ.การ
เลือกตั้ง พ.ศ.2494 ว่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ บิดาต้องมีสัญชาติไทย ซึ่ง
หมายถึงลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่พ่อแม่ยังถือใบต่างด้าว ไม่มีสิทธิในการเป็นผู้แทนราษฎร แต่ประเด็นนี้
ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาบริหารบ้านและเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นของลูกจีนเหล่านี้
เลย
นอกจากการได้เข้ามาบริหารบ้านและเมืองแล้วยังมีการสร้างเครือข่ายทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นครั้ง
แรก โดยการสนับสนุนญาติพี่น้องให้เข้ามาเล่นการเมือง เช่นในกรณีจังหวัดมหาสารคาม ตระกูลอัตถากร
ได้แก่นายทองม้วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มหาสารคาม พ.ศ.2476-80,2481-2488 พี่ชายของนายบุญ
ช่วย อัตถากร นายกเทศมนตรี อ.เมือง มหาสารคาม พ.ศ.2485 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 6 สมัย คือ
พ.ศ.2489, 2491, 2495, 2500, 2512 แล้วยังได้เกี่ยวดองกับตระกูลทองโรจน์ โดยเป็นเขยกับตระกูลอัตถา
กร กล่าวคือ นายฮวด ทองโรจน์ นายกเทศมนตรี 2 สมัย แต่งงานกับนางทุเรียน อัตถากร พี่สาวของนาย
ทองม้วน และนายบุญช่วย อัตถากร และนายเรืองยศ ทองโรจน์ หลานชายซึ่งเป็นลูกของนางทุเรียน ทอง
โรจน์ (อัตถากร) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปีพ.ศ.2495, 2500 ด้วย จากเครือข่ายทางการเมืองนี้ ทำให้
ตระกูลอัตถากรและทองโรจน์ มีอิทธิพลทางการเมืองในเมืองมหาสารคามในขณะนั้น
จีนอีสานยังคงผูกพันกับความเป็นจีนไม่ต่างกับรุ่นพ่อและแม่ แต่รุ่นนี้มีสัญญาณของการ
เปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในลูกจีนบางกลุ่ม หลังจากที่รัฐเปิดโอกาสให้เข้ามาบริหารบ้านและเมือง และเมื่อถึงรุ่น
หลาน ความเป็นท้องถิ่นเริ่มมีมากขึ้น ประกอบกับรากฐานทางเศรษฐกิจก็เข้มแข็งขึ้น
จะเห็นได้ว่าชาวจีนที่อพยพมาก่อนได้เป็นผู้บุกเบิกในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองมหาสารคาม และได้ถ่ายทอดศิลปวิทยาการต่างๆ รวมทั้งการพูดภาษาอีสานให้กับชาวจีนรุ่นใหม่ที่เกิดนทางเข้ามา และชาวจีนได้ผูกความสัมพันธ์กับผู้ปกครองเมือง เพื่อประโยชน์ทางการค้าด้วย ชาวจีนจึงมีความร่ำรวยและเป็นตระกูลที่มีฐานะดี และบางครั้ง ผู้ปกครองของมหาสารคามก็ยังเป็นลูกครึงจีน เนื่องจากมีการแต่งงานระหว่างชาวมหาสารคามกับชาวจีน