หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

คนจีนในมหาสารคาม พ.ศ. 2470 – 2503


จากการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในจังหวัดมหาสารคาม ที่มีหลักฐานว่าตั้งก่อน ปี พ.ศ. 2475 แสดงให้เห็นว่าชาวจีนที่อพยพมาครั้งแรกน่าจะมาทางลาวและเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ เพราะโอกาสที่จะมาจากกรุงเทพฯมีน้อย เพราะทางรถไฟสายอีสาน สร้างถึงสถานีบ้านไผ่ ในปี พ.ศ. 2475 จึงเป็นไปไม่ได้ว่าชาวจีนในมหาสารคามอพยพมาจากทางภาคกลางของไทยทั้งหมด แต่ได้มาการเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว
การอพยพของชาวจีนในยุคแรก
เมื่อชาวจีนเข้ามายังเมืองมหาสารคามในยุคแรกนี้ ส่วนมากจะเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาจากประเทศจีน ชาวจีนเหล่านี้ยังคงมีความผูกพันกับประเทศจีนของตนอยู่ ซึ่งจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันเฉพาะในหมู่ของชาวจีน ชาวจีนที่เข้ามาก่อนหน้านี้จะช่วยเหลือชาวจีนที่เข้ามาอยู่ใหม่
 โดยส่วนมากจะเป็นคนจากหมู่บ้านเดียวกันเมื่อครั้งอยู่เมืองจีน อย่างที่จีนกาสี คหบดีจีนในร้อยเอ็ดช่วยเหลือจีนที่เข้ามาอยู่ใหม่โดยฝึกด้านการค้า สอนภาษาอีสานให้ เมื่อชายจีนใหม่คนนั้นสามารถจะแยกตัวได้แล้วก็สนับสนุนให้ไปเปิดร้านค้าของตนเอง โดยเป็นผู้ให้สินค้านำไปจำหน่ายก่อน ส่งเงินคืนทีหลัง เมื่อคนนั้นสมควรมีครอบครัว ก็เป็นผู้ใหญ่สู่ขอผู้หญิงที่เหมาะสมให้ เป็นต้น นี่คือการดูแล ช่วยเหลือชาวจีนที่เข้ามาอยู่ใหม่ โดยเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน จากการดูแลกันในกลุ่มชาวจีนนี้ ทำให้ชุมชนจีนมีความเหนียวแน่นและเป็นสิ่งดึงดูดให้ชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่รัฐบาลยังไม่กีดกันการเข้ามาของชาวจีน
การสร้างศาลเจ้า
จากการเกิดชุมชนจีนนำไปสู่การสร้างสิ่งเคารพบูชาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจขึ้น และจากการ
เก็บข้อมูล จะได้ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ ถ้าชุมชนจีนที่ใดเข้มแข็งและมีคนจีนอยู่เป็นจำนวน
มาก สิ่งเคารพสักการะของชาวจีนโดยเฉพาะเทพเจ้าประจำท้องถิ่นในประเทศจีน อย่างปุนเถ่ากง-ม่า  จะ
นำมาจากประเทศจีน แต่ถ้าที่ใดคนจีนมีอยู่ไม่มาก สิ่งสักการะบูชาอย่างปุนเถ่ากง-ม่าที่คนจีนนับถือมา
ตลอดจะมาจากผีในท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนท้องถิ่นที่ให้ความเคารพ
อย่างในอำเภอเมืองร้อยเอ็ดและอำเภอเมืองมหาสารคามมีคนจีนอยู่มากกว่าในอำเภอรอบนอก
ในอำเภอเมืองมหาสารคาม มีศาลเจ้าก่อนปี พ.ศ.2470 เป็นลักษณะเหมือนกำแพงดินหลักเล็กๆ
เมื่ออำเภอรอบนอก (หมายถึง อำเภออื่นๆที่ไม่ใช่อำเภอเมือง) เติบโตจากการอพยพเข้าไปอยู่ของ
คนจีน เพราะต้องการเข้าถึงสินค้าท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงของป่า ได้แก่ครั่ง เร่ว หนังสัตว์ เขาสัตว์ ข้าวเปลือก
ฯลฯ จากคนท้องถิ่น และสันนิษฐานว่าคนจีนเข้าสู่อำเภอรอบนอกไม่มากนัก จึงไม่สามารถรวมกลุ่มเพื่อ
อัญเชิญเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่าจากประเทศจีน และสร้างศาลเจ้าเฉพาะของคนจีนขึ้นมาได้ และเท่าที่สังเกต
และสัมภาษณ์คนจีนได้ความว่าเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่าที่คนจีนในอำเภอรอบนอกเคารพบูชาล้วนเป็นผีใน
ท้องถิ่นอีสานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผีปู่ตา หรือหลักเมือง
วิทยาการจากประเทศจีน
นอกจากเรื่องความเชื่อแล้ว เมื่อคนจีนเข้ามาในร้อยเอ็ดและมหาสารคาม คนจีนเหล่านี้ยังนำ
วิทยาการที่ตนเคยปฎิบัติเมื่อครั้งอยู่ในประเทศจีนเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตใหม่ในแผ่นดินไทยด้วย เช่นการ
ปลูกผักยกร่องสวน การนำผักจากประเทศจีนมาปลูก เช่นผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ การใช้ปุ๋ยคอกในนา คนจีนกับการเข้ากับท้องถิ่น
- การพึ่งพาอาศัยกันของคนจีนและคนท้องถิ่น
เมื่อคนจีนเหล่านี้อพยพเข้ามา อาชีพในระยะเริ่มแรกคือการค้า โดยชาวจีนเหล่านี้จะนำสินค้าจาก
ในเมือง ได้แก่สบู่ ผ้าสี ด้าย เข็มเย็บผ้า น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ กระดานชนวน ดินสอหิน ไต้จุดไฟ เครื่องสังฆ
ภัณฑ์ ปลาทูเค็ม ผักดอง ผลไม้เค็ม จอบเสียม เป็นต้น นำไปแลกเปลี่ยนของป่ากับคนท้องถิ่นเพื่อนำส่ง
ขายต่อยังเมืองใหญ่ เช่นกรุเทพ นครราชสีมา บ้านไผ่ เป็นต้น จุดนี้ทำให้คนทั้ง 2 กลุ่มเริ่มรู้จักและคุ้นเคย
กัน และจากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ชาวจีนได้เล่าว่าในรุ่นพ่อแม่ของเขารู้จักสนิทสนมกับคนท้องถิ่น
มาก เพราะติดต่อค้าขายกันเป็นประจำ และเคยช่วยเหลือกันด้วย กล่าวคือ เมื่อคนท้องถิ่นเดือดร้อนจาก
การทำนา อันเนื่องมาจากฝนแล้ง หรือน้ำท่วมจะมีการยืมข้าวจากพ่อค้าจีนที่คุ้นเคยกัน ไปปลูกหรือไป
รับประทานก่อน และจะคืนข้าวเท่ากับจำนวนที่ยืม เมื่อสามารถปลูกข้าวในครั้งต่อไปได้
- การสานสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับผู้ปกครองในท้องถิ่น
คนจีนที่เข้ามาใน มหาสารคามบางคนเข้ามาเพราะถูกชักชวนจากเจ้าเมืองให้มาประกอบ
การค้าในอำเภอนั้น เช่นอำเภอวาปีปทุม ในขณะที่คนจีนส่วนมากอพยพมาจากประเทศจีนเพื่อหนีความอด
อยาก ทำให้ชาวจีนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนสามารถดำรงชีวิตอยู่รอด และปลอดภัยในดินแดนใหม่ที่ตน
เข้ามาทำมาหากิน การสานสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหมายถึงความปลอดภัย
ความก้าวหน้า และสิทธิพิเศษอื่นๆของตนและกลุ่มด้วย
การสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ปกครองของคนจีนมีหลายลักษณะ ได้แก่การแต่งงาน เช่นในจังหวัด
มหาสารคาม คหบดีจีนจากเมืองวาปีปทุม คือนายทองดี อัตถากร แต่งงานกับญาแม่แก้วประภา ภวภูตา
นนท์ ณ มหาสารคาม ซึ่งเป็นธิดาของพระเจริญราชเดช (อุ่น) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 312 จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง และได้รับการสนับสนุนจากเจ้าเมืองให้เป็นผู้ผูกขาดต้มเหล้า หรือกรณีจีนกาสี แซ่เซีย ได้บริจาคข้าว 1 เล้าแก่ทางการ จึงได้ปูนบำเน็จเป็นหลวงนุกูลกิจคดีจีน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลคนจีนในร้อยเอ็ดด้วยคนจีนในยุคนี้เป็นรุ่นจีนอพยพและเป็นรุ่นบุกเบิกทางการค้าและความสัมพันธ์กับท้องถิ่นรวมทั้งผู้ปกครองด้วย และสิ่งที่คนจีนในรุ่นนี้วางรากฐานไว้ ทำให้คนจีนในรุ่นต่อมาสามารถต่อยอดสร้างทุน สร้างฐานะที่มั่นคง และทำให้เมืองเติบโตในเวลาต่อมา
คนจีนอีสานกับชนบท สร้างทุนในการตั้งเมือง พ.ศ.2470-2503
2.1 การเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อธุรกิจค้าข้าวเปลือกขยายตัวมากขึ้น นำไปสู่การตั้งโรงสีข้าวของคนจีนขึ้นเอง พร้อมกับการ
ขยายเส้นทางรถไฟมาถึงขอนแก่น ในปี พ.ศ.2476 การสร้างถนนเชื่อมระหว่างอำเภอและจังหวัดเพื่อความ
สะดวกในการเดินทาง ทำให้ชาวจีนอพยพย้ายเข้าสู่อำเภอรอบนอกเพื่อสะดวกต่อการรับซื้อของป่ากับคน
ท้องถิ่น และย้ายออกในกรณีที่การค้าเบ็ดเตล็ดในอำเภอรอบนอกซบเซา เพราะคนท้องถิ่นนิยมมาซื้อสินค้า
ในเมืองแทน เช่นในปี พ.ศ.2479 มีรถประจำทางวิ่งระหว่างร้อยเอ็ด-กรุงเทพ, ร้อยเอ็ด-บ้านไผ่,ร้อยเอ็ด-
อุบล, ร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ, ร้อยเอ็ด-วาปีปทุม เป็นต้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธุรกิจค้าข้าวเปลือกซบเซา คนจีนเหล่านี้บางคนหันไปค้าของป่าชนิดอื่น
เช่นฝ้าย ปอ จนบางคนสามารถสะสมเงินทุนจากการค้าสินค้าเหล่านี้ได้ เช่นนายสงวน ศิริเกษมทรัพย์ ได้
เล่าว่าในอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีการซื้อขายปอกันมากตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 จนบางปีปอขาด
ตลาด พ่อค้าที่มีสินค้าก็สามารถขายปอได้ในราคาสูงถึงกก.ละ 1 บาท ในขณะที่ซื้อปอมา กก.ละ 5- 10
สตางค์ จึงทำให้พ่อค้าบางคนมีฐานะร่ำรวยจากการขายปอในปีนั้น อย่างประมาณปี พ.ศ.2501 บางคน
ร่ำรวย ได้เงินหลายแสนบาท ซึ่งสมัยนั้นนับว่ามาก เพราะความเฮง เนื่องจากช่วงนั้นราคาปอตกมาตลอด
พ่อค้าบางคนไม่กล้าเก็บปอไว้ในโกดังนาน จึงปล่อยขาดในขณะที่ราคาต่ำ แต่บางคนก็ไม่ขาย เมื่อมีคนขาย
ให้ในราคาต่ำมากๆก็ซื้อเก็บเอาไว้ ไม่มีใครรู้ว่าราคาจะขึ้นเมื่อไร พอปีต่อมา ราคาปอขึ้น และขึ้นอย่างเร็ว
เนื่องจากคนปลูกปอน้อยลง แต่ตลาดปีนั้นต้องการปอมาก พ่อค้าที่เก็บปอไว้มาก ก็ร่ำรวยภายในพริบตา
ชาวจีนประกอบธุรกิจการค้า สิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือการขยายกิจการ โดยจะขยายกิจการตาม
ขนาดของครอบครัว ถ้าครอบครัวไหนมีลูกหลานมากก็ขยายกิจการมาก ถ้าลูกหลานน้อยก็ขยายเล็กน้อย
โดยการนำผลกำไรจากการค้ามาขยายกิจการ บางรายใช้แหล่งทุนข้างนอกมาขยายกิจการ กล่าวคือก่อนที่
จะมีธนาคารในอำเภอ การขยายกิจการโดยใช้ทุนข้างนอกจะมาจากการเล่นแชร์ และหวยของกลุ่มพ่อค้าจีน
ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของคนจีนในสมัยนั้น อันนำไปสู่การขยายตัวของเมือง
2.2 การดำรงความเป็นจีน
จีนอีสาน เป็นชาวจีนรุ่นที่ 2 หรือลูกชาวจีนอพยพ ชาวจีนรุ่นนี้เกิดในเมืองไทยแต่ยังคงอยู่ในชุมชน
จีนจึงทำให้ยังคงผูกพันกับความเป็นจีนอยู่ ประกอบกับกฎหมายเรื่องสัญชาติ ที่ทั้งกฎหมายไทยและ
กฎหมายจีนต่างต้องการให้ลูกจีนสังกัดสัญชาติของตน เช่นพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับของรัฐบาลชิง ในปี พ.ศ.
2452 และ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 ที่ออกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้ลูก
จีนกลายเป็นบุคคล 2 สัญชาติ และต้องจงรักภักดีต่อทั้งสองแผ่นดิน ในขณะที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นจีน
โดยการให้เรียนหนังสือจีน และรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนผ่านโรงเรียนจีน บางคนถูกส่งให้ไปเรียน
หนังสือจีนที่ประเทศจีน โดยไปอาศัยอยู่กับญาติที่นั่น ยิ่งทำให้ลูกจีนมีความผูกพันกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น
จนนำมาสู่การเกิดความรู้สึกชาตินิยม เมื่อจีนอีสานเห็นประเทศจีนได้รับความเดือดร้อน เช่นกรณีญี่ปุ่นบุก
จีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นขึ้น หรือกรณีความขัดแย้ง
ภายในประเทศจีนระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ได้ส่งผลให้ชาวจีนเกิดการ
แตกแยกกันตามกระแสการเมืองจีนด้วย ตัวอย่างในจังหวัดร้อยเอ็ดแบ่งเป็น 2 กลุ่มการเมือง คือกลุ่มฮั่ว
เคียวกงส้อ เป็นกลุ่มก๊กมินตั๋ง หรือกลุ่มนิยมนายพลเจียงไคเช็ค ซึ่งส่วนมากจะเป็นจีนสูงอายุหรือจีนเก่าใน
ร้อยเอ็ด กับกลุ่มฮั่วเคียวกงหวย เป็นกลุ่มนิยมเหมาเจ๋อตุง หรือกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ พวกนี้จะเป็นพวกจีน
ใหม่ที่ย้ายมาจากกรุงเทพ แต่ในร้อยเอ็ดทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่เคยทะเลาะวิวาทกัน ต่างกลุ่มต่างทำกิจกรรมของ
ตน และแต่ละกลุ่มจะรู้ว่าใครอยู่กลุ่มไหนซึ่งจะไม่ติดต่อสัมพันธ์กันการดำรงความเป็นจีนอีกประการหนึ่งคือการกล้าแสดงอัตลักษณ์ความเป็นจีนเป็นครั้งแรก โดย
การจัดประเพณีงานงิ้วเพื่อสักการะบูชาเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่า ในอำเภอเมืองจังหวัดมหาสารคามจัดประเพณีงานงิ้วเป็นครั้งแรก เมื่อ
ปี พ.ศ.2500 ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอำเภอที่ชาวจีนอยู่ และความรู้สึกถึงความ
เป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นจึงกล้าแสดงอัตลักษณ์ของจีนออกมาก็ได้
2.3 ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งในท้องถิ่นของจีนอีสาน
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงกล่าวคือเปิดโอกาสให้
ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านและเมืองมากขึ้น โดยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บริหารงาน
ในระดับชาติ และการเป็นสมาชิกสภาเทศบาล บริหารงานในระดับท้องถิ่น ซึ่ง
รัฐบาลให้สามัญชนมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและในการเป็นผู้แทนของราษฎร ปรากฏว่าลูกจีนตื่นตัว
ในการเข้าร่วมบริหารบ้านและเมืองในครั้งนี้มาก แต่กฎหมายไม่ได้เปิดทางให้ โดยระบุไว้ใน พ.ร.บ.การ
เลือกตั้ง พ.ศ.2494 ว่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ บิดาต้องมีสัญชาติไทย ซึ่ง
หมายถึงลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่พ่อแม่ยังถือใบต่างด้าว ไม่มีสิทธิในการเป็นผู้แทนราษฎร แต่ประเด็นนี้
ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาบริหารบ้านและเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นของลูกจีนเหล่านี้
เลย
นอกจากการได้เข้ามาบริหารบ้านและเมืองแล้วยังมีการสร้างเครือข่ายทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นครั้ง
แรก โดยการสนับสนุนญาติพี่น้องให้เข้ามาเล่นการเมือง เช่นในกรณีจังหวัดมหาสารคาม ตระกูลอัตถากร
ได้แก่นายทองม้วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มหาสารคาม พ.ศ.2476-80,2481-2488 พี่ชายของนายบุญ
ช่วย อัตถากร นายกเทศมนตรี อ.เมือง มหาสารคาม พ.ศ.2485 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 6 สมัย คือ
พ.ศ.2489, 2491, 2495, 2500, 2512 แล้วยังได้เกี่ยวดองกับตระกูลทองโรจน์ โดยเป็นเขยกับตระกูลอัตถา
กร กล่าวคือ นายฮวด ทองโรจน์ นายกเทศมนตรี 2 สมัย แต่งงานกับนางทุเรียน อัตถากร พี่สาวของนาย
ทองม้วน และนายบุญช่วย อัตถากร และนายเรืองยศ ทองโรจน์ หลานชายซึ่งเป็นลูกของนางทุเรียน ทอง
โรจน์ (อัตถากร) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปีพ.ศ.2495, 2500 ด้วย จากเครือข่ายทางการเมืองนี้ ทำให้
ตระกูลอัตถากรและทองโรจน์ มีอิทธิพลทางการเมืองในเมืองมหาสารคามในขณะนั้น
จีนอีสานยังคงผูกพันกับความเป็นจีนไม่ต่างกับรุ่นพ่อและแม่ แต่รุ่นนี้มีสัญญาณของการ
เปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในลูกจีนบางกลุ่ม หลังจากที่รัฐเปิดโอกาสให้เข้ามาบริหารบ้านและเมือง และเมื่อถึงรุ่น
หลาน ความเป็นท้องถิ่นเริ่มมีมากขึ้น ประกอบกับรากฐานทางเศรษฐกิจก็เข้มแข็งขึ้น
จะเห็นได้ว่าชาวจีนที่อพยพมาก่อนได้เป็นผู้บุกเบิกในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองมหาสารคาม และได้ถ่ายทอดศิลปวิทยาการต่างๆ รวมทั้งการพูดภาษาอีสานให้กับชาวจีนรุ่นใหม่ที่เกิดนทางเข้ามา และชาวจีนได้ผูกความสัมพันธ์กับผู้ปกครองเมือง เพื่อประโยชน์ทางการค้าด้วย ชาวจีนจึงมีความร่ำรวยและเป็นตระกูลที่มีฐานะดี และบางครั้ง ผู้ปกครองของมหาสารคามก็ยังเป็นลูกครึงจีน เนื่องจากมีการแต่งงานระหว่างชาวมหาสารคามกับชาวจีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น