หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วันนี้ในอดีต 15 พฤศจิกายน : ในหลวงเสด็จเยือนจังหวัดมหาสารคามครั้งแรก

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปกครองสยามรัฐสีมาอาณาจักรตราบจนทุกวันนี้ ทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ยังความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรทั่วหน้า ทรงเป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวไทย พระมหากรุณาธิคุณเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งมวลจักน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมตลอดไป
                ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพสกนิกรในภูมิภาคแรกที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ในมหามงคลสมัยนั้นเป็นปิติกาลของชาวอีสาน มีเรื่องราวที่ประทับตรึงแน่นอยู่ในความทรงจำ พระราชจริยานุวัตรอันงดงามของทั้งสองพระองค์ที่พระราชทานพระเมตตาแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกชาติชั้นวรรณะ ไม่เพียงแต่จะอยู่ในความทรงจำเท่านั้น ยังเป็นเรื่องเล่าขานสืบสานต่อกันมาจนทุกวันนี้
                พระราชกรณียกิจในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในครั้งนั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของพสกนิกรของพระองค์ ทำให้ทรงพระวินิจฉัยและพระราชดำริในการพัฒนาได้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างดี ยังประโยชน์สุขแก่พสกนิกรอย่างแท้จริง
                เรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ซึ่งเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ยังความปลิ้มปิติแก่พสกนิกรชาวไทยในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรดังนี้มาก่อนเลย และในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเช่นนี้ ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของพระสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง ดังกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จในครั้งนั้นตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมประชาชนจังหวัดนี้ก็เพื่อพบปะราษฏรโดยใกล้ชิด และเพื่อทราบทุกข์สุข และทราบว่าราษฎรจังหวัดนี้ประสบอุปสรรคต่างๆ ในการทำมาหากินหลายปี ก็รู้สึกห่วงใย” ทั้งได้มีโอกาสพระราชทานแนวพระราชทานในการประกอบอาชีพแก่ราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะทรงแนะนำให้ราษฎรเลี้ยงเป็ด ไก่ ปลูกพืชผักและการทำสวนครัวไปควบคู่กับการทำนา อันเป็นแนวพระราชดำริที่รู้จักกันในทั่วไปว่า “ การเกษตรแบบผสมผสาน”
                ซึ่งยังคงใช้ได้เป็นอย่างดีแม้ในปัจจุบัน การที่ได้ทอดพระเนตรถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรด้วยพระองค์เองเช่นนี้ ทำให้ทรงมีโครงการตามแนวพระราชดำริเกิดขึ้นตามมามากมาย ล้านเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ท้องถิ่นต่างๆ อย่างแท้จริงและเหมาะสม
                การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนั้น ยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวอีสานอย่างสุดพรรณนา พสกนิกรที่มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ ตลอดจนข้าราชการในท้องถิ่นที่ได้มีโอกาสถวายงานในครั้งนั้นยังความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และประทับใจในพระราชจริยานุวัตรที่งดงาม
                ในจังหวัดมหาสารคามเองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอุดลยเดชก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมตั้งแต่เวลา 16.00 น ของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 โดยเสด็จมาจากอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ผู้ที่มาคอยรับเสด็จ มาล่วงหน้าแล้ว 1-2 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมชินีนาถ ได้ประทับแรม ณ จวนผู้ว่าจังหวัดมหาสารคาม ที่สร้างขึ้นใหม่  เป็นเวลา 1 คืนด้วย เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2498 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จออกหน้ามุขศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม หลวงอนุมัตราชกิจกราบบังคมทูลถวายรายงานและนำราษฏรเฝ้ารับเสด็จ  ใจความว่า “ จังหวัดนี้มีพื้นที่แห้งแล้ง ฝนไม่พอทำนามา 3 ปีแล้ว ราษฏรอัตคัดขาดแคลน แต่ก็ปลาบปลื้มปิติยินดีที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงและก็เป็นนิมิตมหายอันดีที่ฝนโปรปรายให้ความร่มเย็น นับตั้งแต่วันทีทรงเสด็จจากกรุงเทพมหานคร และพาความร่มเย็นมาสู่ภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดนี้ ให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดปี และได้ถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญเจริญพระชนม์ยิ่งยืนนาน”

                พระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสต่อหลวงอนุมัติราชกิจและชาวจังหวัดมหาสารคามว่า “ขอบใจในการที่มีราษฏรมาเฝ้ามากมาย และแนะนำให้ราษฏรมีมานะพากเพียรพยายามประกอบการอาชีพ เพื่อความเจริญของแต่ละครอบครัวอันจะเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติและทรงอวยพรให้ข้าราชการและราษฎรทั้งหลายอยู่เย็นเป้นสุขโดยทั่วกัน”
                หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ลงเยี่ยมราษฏรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งมีจำนวนมากจนต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปจังหวัดร้อยเอ็ดต่อไป1

                                                                       
1 รอยเสด็จ . สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์ , กุลธิดา ท้วมสุข . กรุงเทพ : หอรันตชัยการพิมพ์ , 2540 .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น