หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เที่ยวพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม

เมื่อเราเริ่มเข้ามาสู่สวนสาธารณะหนองข่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม เราจะพบกับบรรยากาศที่ร่มรื่นของต้นไม้หลากหลายชนิด ทำให้รู้สึกสบายและได้สูดอากาศที่สดชื่น เมื่อมองไปที่กลางสวนสาธารณะจะพบกับอนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช (กวด) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก  และด้านหลังของอนุสาวรีย์จะพบกับอาคารทรงไทยประยุกต์ นั้นคือตัวพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามนั่นเอง เมื่อเราเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามแห่งนี้
 สิ่งแรกที่เราจะพบและสัมผัสคือแผนที่ที่แสดงอาณาเขตของจังหวัดมหาสารคาม พร้อมทั้งบอกถึงแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม เมื่อเดินเข้าไปจะพบภาพถ่ายทางอากาศของเมืองมหาสารคาม ซึ่งถ่ายสามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยจะสื่อความหมายว่า เมืองมหาสารคามนั้นได้มีการขยายตัวจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จนกระทั้งสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2540 เมื่อเมืองมหาสารคามได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นเมืองมากขึ้น แต่ยังอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “เมืองซ้อนชนบท”  เมื่อเดินต่อมาจะเป็นภาพถ่ายที่มีปุ่มไฟสำหรับกดว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ได้ ประกอบด้วย 4 ปุ่ม ได้แก่ กุดนางใยหรือกุดยางใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาสารคาม กุด/กุฎิ = มหา , ยางคือต้นไม้ชนิดหนึ่งภาษาบาลี = สาละ ,  ใหญ่ = มหา จึงรวมกันว่า มหาสาลคาม แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นมหาสารคามดังเช่นที่ทราบกันในปัจจุบัน  ปุ่มต่อไปคือตึกดิน ที่ชาวจีนได้สร้างขึ้นเพื่อประกอบการค้าขายภายในเมืองมหาสารคาม และถือได้ว่าชาวจีนมีส่วนที่ทำให้เมืองมหาสารคามมีความเจริญก้าวหน้าด้วย ปุ่มต่อมาจะเป็นหอนาฬิกาที่สร้างขึ้นในบริเวณที่สูงที่สุดของเทศบาล ในบริเวณหอนาฬิกาในปัจจุบันนั้นเอง ปุ่มสุดท้ายคือตลาดของเรา เป็นตลาดของเทศบาลเมืองมหาสารคาม เดิมมีการสร้างด้วยไม้ แต่ปัจจุบันได้ทำเป็นอาคารโค้งซึ่งเป็นศูนย์ราชการเช่น สำนักงานเทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นอาคารพานิชย์
 เมื่อเราเดินต่อไปจะพบกับกู่บ้านเขวาซึ่งเป็นปราสาทในสายวัฒนธรรมเขมร สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรศที่ 17 โดยใช้เป็นโรงพยาบาลที่เรียกว่าอโรคยาศาล แต่ทับหลังที่จำลองมานั้นเป็นทับหลังสลักภาพรัตนตรัยมหายาน ซึ่งขุดพบที่กู่บ้านแดง  ภายในปราสาทหลังนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องยาและการรักษาโรค ชื่อว่า พระไภษัชยคุรุไวฑูรประภา เมื่อเดินต่อไปอีกจะพบตู้ไม้ที่จำลองพระพิมพ์ที่ขุดพบในเขตจังหวักมหาสารคามได้แก่ พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบที่ท้องที่อำเภอนาดูน ซึ่งเคยเป็นเมืองจำปาศรี และพระกันทรวิชัย ซึ่งขุดพบที่ท้องที่อำเภอกันทรวิชัย ที่เคยเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับเมืองจำปาศรี อำเภอนาดูน
เมื่อเราเดินเลี้ยวขวาไปตามทางเดินจะพบกับห้วยคะคาง ซึ่งเป็นลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวมหาสารคามตั้งแต่สมัยพระเจริญราชเดช(ท้าวกวด) เป็นเจ้าเมืองและได้เลือกตั้งเมืองริมห้วยคะคาง หลังจากที่เคยไปตั้งเมืองบนที่ดอนมาแล้ว และห้วยคะคางยังคงหล่อเลี้ยงชาวมหาสารคามมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเรามองตรงไปข้างหน้าจะพบกับศาลปู่ตา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ชาวมหาสารคามทุกหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ โดยจะมีการสร้างศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะเลือกพื้นที่ที่เป็นป่าชุมชนในการตั้งศาล และตรงกันข้ามจะเป็นภาพถ่ายศาลปู่ตาในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งมีทั้งหมด 11 แห่งด้วยกัน
และเมื่อเดินต่อไปจะเป็นการจำลองร้านถ่ายภาพ ชื่อร้านศรีอรุณ ของคุณพ่อ ศรี ศรีสารคามเอาไว้ โดยจะมีอุปกรณ์การถ่ายภาพและภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้ด้วย
เมื่อเราเดินขึ้นบันไดไปจะพบกับภาพวาดสีน้ำที่อธิบายถึงการสักการะพระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยในภาพจะเป็นชาวบ้านถือเทียนเพื่อที่จะไปบูชาพระธาตุนาดูนและกู่สันตรัตน์ เมื่อมองขึ้นไปตรงบันไดจะพบกับพระธาตุนาดูนและมีพระพุทธรูปสององค์อยู่ข้างๆ ทั้งซ้ายขวา ทางด้านซ้ายของพระธาตุนาดูนจะเป็นพระวัชรธร ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในนิกายมหายาน เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกที่เกิดขึ้นในโลก มือข้างหนึ่งถือสายฟ้าและอีกข้างหนึ่งถือกระดิ่ง
เมื่อเราเดินต่อมาจะพบกับภาพวาดสีน้ำในเรื่องประเพณีสิบสองเดือน หรือที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง ต่อมาจะเห็นเสาหลักเมืองจำลองและสารตราตั้งเมืองมหาสารคามขนาดใหญ่ และรูปถ่ายเจ้าเมืองเรียงตามการครองเมืองมหาสารคาม ในสมัยที่ยังไม่ยกเลิกระบบการปกครองเดิม ที่เรียกว่า อาญาสี่ รวมทั้งจัดแสดงสิ่งของที่เจ้าเมืององค์ต่างๆเคยใช้ เมื่อเดินมาจามทางเลี้ยวจะพบกับแผนที่ที่แสดงการอพยพเข้ามาของคนจีน ที่อพยพมาจากที่ต่างๆ เช่น บ้านไผ่ , ร้อยเอ็ด , กาฬสินธุ์  เป็นต้น ต่อมาจะเป็นทางเลี้ยว เรามองตรงไปจะพบกับรูปภาพสถานศึกษาต่างๆ ในเมืองมหาสารคาม จนได้เรียกว่าเมืองแห่งการศึกษา หรือ ตักศิลานคร ระหว่างทางเดินปสู่พานบายศรีสู่ขวัญที่ใช้ในพิธีกรรมบุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม จะพบกับการจำลองขณะที่เรายืนอยู่ในบ้านดินและมองออกไปยังถนน เมื่อถึงพานบายศรีสู่ขวัญจะมีการจำลองเครื่องเซ่นไหว้ได้แก่ มะพร้าว ไก่ เผือกและมันต่างๆ
เมื่อเรามองไปทางขวามือของพานบายศรีสู่ขวัญจะพบผ้าสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสีประจำเทศบาลเมองมหาสารคามผืนใหญ่ปักตราเทศบาลเมืองมหาสารคาม  ตรงกันข้ามจะเป็นรูปภาพของนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามตั้งแต่คนแรกจนถึงคนปัจจุบัน และมีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้สำนักงานเทศบาลเมืองมหาสารคามในอดีต เช่น เครื่องพิมพ์ดีดี โทรศัพท์ เป็นต้น
เมื่อเราเดินต่อมาทางขวามือจะพบกับตู้ลิ้นชักขนาดใหญ่ ที่ใช้เก็บข้อมูลสายตระกูลที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม สุดท้ายจะพบกับคำถามที่ว่า “ เราได้เตรียมอะไรไว้ให้ลูกหลาน เพื่อสร้างสรรค์เมืองมหาสารคามอย่างยั่งยืน
หากท่านต้องการสัมผัสบรรยากาศจริง ของเชิญไปเยี่ยมชมได้ในวันและเวลาราชการ ที่สวนสาธารณะหนองข่า เทศบาลเมืองมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น